ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบ

ความมั่งคั่งแห่งสัจธรรม

โศลก 42

atha vā bahunaitena
kiṁ jñātena tavārjuna
viṣṭabhyāham idaṁ kṛtsnam
ekāṁśena sthito jagat
อถ วา พหุไนเตน
กึ ชฺญาเตน ตวารฺชุน
วิษฺฏภฺยาหมฺ อิทํ กฺฤตฺสฺนมฺ
เอกำเศน สฺถิโต ชคตฺ
อถ วา — หรือ, พหุนา — หลาย, เอเตน — ด้วยชนิดนี้, กิมฺ — อะไร, ชฺญาเตน — ด้วยความรู้, ตว — ของเธอ, อรฺชุน — โอ้ อรฺชุน, วิษฺฏภฺย — แผ่กระจาย, อหมฺ — ข้า, อิทมฺ — นี้, กฺฤตฺสฺนมฺ — ทั้งหมด, เอก — โดยหนึ่ง, อํเศน — ส่วน, สฺถิตห์ — สถิต, ชคตฺ — จักรวาล

คำแปล

แต่จะมีประโยชน์อันใดเล่า โอ้ อรฺชุน กับรายละเอียดความรู้ทั้งหมดนี้ ด้วยเพียงส่วนนิดเดียวของตัวข้า ข้าได้แผ่กระจายและค้ำจุนทั่วทั้งจักรวาลนี้

คำอธิบาย

องค์ภควานฺทรงมีผู้แทนทั่วทุกจักรวาลวัตถุด้วยการเสด็จเข้าไปทุกสิ่งทุกอย่างในรูปอภิวิญญาณ ที่นี้พระองค์ตรัสแด่ อรฺชุน ว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะเข้าใจว่าสิ่งต่างๆมีอยู่ได้อย่างไรในความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่อลังการที่แบ่งแยกออกไป อรฺชุน ควรทราบว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่ได้เนื่องจากองค์กฺฤษฺณเสด็จเข้าไปในฐานะอภิวิญญาณ จากพระพรหมชีวิตที่ใหญ่โตมโหฬารที่สุดลงไปจนถึงมดตัวเล็กที่สุดทั้งหมดดำรงอยู่ได้เพราะองค์กฺฤษฺณทรงเสด็จเข้าไปในแต่ละชีวิตและทุกชีวิต พระองค์ทรงค้ำจุนทุกชีวิต

มีกลุ่มเผยแพร่ศาสนาที่แสดงอยู่เสมอว่าการบูชาเทวดาองค์ใดก็แล้วแต่จะนำเราไปถึงองค์ภควานฺหรือเป้าหมายสูงสุด แต่ตรงนี้การบูชาเทวดาไม่ได้รับการสนับสนุนเพราะแม้แต่เทวดาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด เช่น พระพรหมและพระศิวะทรงเป็นเพียงตัวแทนส่วนหนึ่งแห่งความมั่งคั่งขององค์ภควานฺเท่านั้น พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของทุกๆ คนที่เกิดมาไม่มีผู้ใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าพระองค์พระองค์ทรงเป็น อสเมารฺธฺว ซึ่งหมายความว่าไม่มีผู้ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าและไม่มีผู้ใดเทียบเท่าพระองค์ได้ ใน ปทฺม ปุราณ กล่าวไว้ว่าผู้พิจารณาว่าองค์ภควานฺ ศฺรี กฺฤษฺณทรงอยู่ในระดับเดียวกันกับเทวดา เช่น พระพรหม หรือพระศิวะ ทันทีที่คิดเช่นนี้ผู้นั้นจะกลายเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในองค์ภควานฺ อย่างไรก็ดีหากผู้ใดศึกษารายละเอียดในความมั่งคั่งต่างๆและภาคที่แบ่งแยกต่างๆแห่งพลังงานขององค์กฺฤษฺณจะเข้าใจสถานภาพของศฺรี กฺฤษฺณได้อย่างไม่ต้องสงสัย และสามารถตั้งมั่นจิตใจในการบูชาองค์กฺฤษฺณโดยไม่เบี่ยงเบน องค์ภควานฺทรงแผ่กระจายไปทั่วด้วยภาคที่แบ่งแยกแห่งผู้แทนอันสมบูรณ์ของพระองค์นั่นคืออภิวิญญาณผู้เสด็จเข้าไปในทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นสาวกผู้บริสุทธิ์ตั้งสมาธิจิตในกฺฤษฺณจิตสำนึกด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้อย่างเต็มที่จึงสถิตในสถานภาพทิพย์เสมอ การอุทิศตนเสียสละรับใช้และการบูชาองค์กฺฤษฺณได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากในโศลกแปดถึงโศลกสิบเอ็ดของบทนี้ นี่คือวิธีแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้ที่บริสุทธิ์ เราจะบรรลุถึงความสมบูรณ์แห่งการอุทิศตนเสียสละที่สูงสุดในการไปอยู่ใกล้ชิดกับบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าได้อย่างไรนั้นได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนในบทนี้ ศฺรีล วิทฺยาภูษณ วิทฺยาภูษณ อาจารฺย ผู้ยิ่งใหญ่ในสายปรัมปราจากองค์กฺฤษฺณได้สรุปคำบรรยายในบทนี้ด้วยการกล่าวว่า

ยจฺ-ฉกฺติ-เลศาตฺ สูรฺยาทฺยา
ภวนฺตฺยฺ อตฺยฺ-อุคฺร-เตชสห์
ยทฺ-อํเศน ธฺฤตํ วิศฺวํ
ส กฺฤษฺโณ ทศเม ’รฺจฺยเต
แม้แต่พระอาทิตย์ผู้ทรงพลังยังได้รับพลังจากพลังอันมหาศาลขององค์กฺฤษฺณ และจากภาคที่แบ่งแยกจากส่วนขององค์กฺฤษฺณโลกทั้งโลกจึงได้รับการค้ำจุน ดังนั้นองค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงเป็นที่สักการะบูชา

ดังนั้นได้จบคำอธิบายโดย ภักดีเวดานตะ บทที่สิบ ของหนังสือ ศฺรีมทฺ ภควัท-คีตา ในหัวข้อเรื่อง ความมั่งคั่งแห่งสัจธรรม