ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสอง

การอุทิศตนเสียสละรับใช้

โศลก 20

ye tu dharmāmṛtam idaṁ
yathoktaṁ paryupāsate
śraddadhānā mat-paramā
bhaktās te ’tīva me priyāḥ
เย ตุ ธรฺมามฺฤตมฺ อิทํ
ยโถกฺตํ ปรฺยุปาสเต
ศฺรทฺทธานา มตฺ-ปรมา
ภกฺตาสฺ เต ’ตีว เม ปฺริยาห์
เย — ผู้ซึ่ง, ตุ — แต่, ธรฺม — ของศาสนา, อมฺฤตมฺ — น้ำทิพย์, อิทมฺ — นี้, ยถา — ประหนึ่ง, อุกฺตมฺ — กล่าว, ปรฺยุปาสเต — ปฏิบัติโดยสมบูรณ์, ศฺรทฺทธานาห์ — ด้วยศรัทธา, มตฺ-ปรมาห์ — ยอมรับองค์ภควานว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง, ภกฺตาห์ — เหล่าสาวก, เต — พวกเขา, อตีว — มากๆ, เม — แด่ข้า, ปฺริยาห์ — ที่รัก

คำแปล

พวกที่ปฏิบัติตามวิธีที่ไม่มีวันสูญสลายแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้นี้ ปฏิบัติด้วยความศรัทธาอย่างสมบูรณ์ มีข้าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด เป็นที่รักยิ่งของข้า

คำอธิบาย

ในบทนี้จากโศลกสองถึงโศลกสุดท้ายเริ่มจาก มยฺยฺ อาเวศฺย มโน เย มามฺ (“ตั้งจิตมั่นอยู่ที่ข้า”) มาถึง เย ตุ ธรฺมามฺฤตมฺ อิทมฺ (“ศาสนาแห่งการปฏิบัตินิรันดรนี้”) องค์ภควานฺทรงอธิบายกรรมวิธีแห่งการรับใช้ทิพย์เพื่อบรรลุถึงพระองค์กรรมวิธีเหล่านี้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์และพระองค์ทรงยอมรับบุคคลผู้ปฏิบัติตามกรรมวิธีเหล่านี้ คำถามคือใครดีกว่ากัน ผู้ปฏิบัติในวิธีของ พฺรหฺมนฺ อันไร้รูปลักษณ์ หรือผู้ปฏิบัติในการรับใช้ส่วนพระองค์ต่อองค์ภควานฺ คำถามนี้ อรฺชุน ทรงได้ยกขึ้นมาและองค์ภควานฺทรงตอบอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อสงสัยเลยว่า การอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อบุคลิกภาพแห่งพระเจ้าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในบรรดาวิธีแห่งความรู้แจ้งทิพย์ทั้งหลายทั้งปวง อีกนัยหนึ่งบทนี้อธิบายว่าจากการคบหากัลยาณมิตรเราจะพัฒนาความยึดมั่นในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ด้วยความบริสุทธิ์ และต่อมายอมรับพระอาจารย์ทิพย์ผู้ที่เชื่อถือได้ จากนั้นเริ่มสดับฟังและสวดภาวนาและถือปฏิบัติตามหลักธรรมแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้ด้วยความศรัทธา ยึดมั่นและอุทิศตนเสียสละ ดังนั้นจึงมาปฏิบัติการรับใช้ทิพย์ต่อองค์ภควานฺ วิธีนี้ได้แนะนำไว้ในบทนี้อย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่าการอุทิศตนเสียสละรับใช้เป็นวิธีเดียวที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อความรู้แจ้งแห่งตน เพื่อบรรลุถึงองค์ภควานฺ ได้อธิบายไว้ในบทนี้ว่าแนวคิดที่ไร้รูปลักษณ์แห่งสัจธรรมสูงสุดจะนำมาถึงเพียงแค่จุดที่เราศิโรราบเพื่อความรู้แจ้งแห่งตน อีกนัยหนึ่งตราบใดที่ยังไม่มีโอกาสมาพบกับสาวกผู้บริสุทธิ์แนวคิดที่ไร้รูปลักษณ์อาจเป็นประโยชน์ เพราะแนะนำให้เราทำงานโดยไม่หวังผลทางวัตถุ ฝึกสมาธิ และพัฒนาความรู้เพื่อให้เข้าใจดวงวิญญาณและวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นตราบเท่าที่เรายังไม่พบสาวกผู้บริสุทธิ์ หากโชคดีพอจนพัฒนาความต้องการมาปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกโดยตรงด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้อย่างบริสุทธิ์ก็ไม่จำเป็นต้องไปพัฒนาการรู้แจ้งทิพย์ทีละขั้นตอน ดังที่ได้อธิบายไว้ในหกบทกลางของ ภควัท-คีตา ว่าการอุทิศตนเสียสละรับใช้เป็นที่น่าพึงพอใจกว่า เราไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเรื่องทางวัตถุเพื่อรักษาร่างกายและดวงวิญญาณให้อยู่ด้วยกัน เพราะด้วยพระกรุณาธิคุณขององค์กฺฤษฺณทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดีโดยปริยาย

ดังนั้นได้จบคำอธิบายโดย ภักดีเวดานตะ บทที่สิบสอง ของหนังสือ ศฺรีมทฺ ภควัท-คีตา ในหัวข้อเรื่อง การอุทิศตนเสียสละรับใช้