ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสอง

การอุทิศตนเสียสละรับใช้

โศลก 5

kleśo ’dhika-taras teṣām
avyaktāsakta-cetasām
avyaktā hi gatir duḥkhaṁ
dehavadbhir avāpyate
เกฺลโศ ’ธิก-ตรสฺ เตษามฺ
อวฺยกฺตาสกฺต-เจตสามฺ
อวฺยกฺตา หิ คติรฺ ทุห์ขํ
เทหวทฺภิรฺ อวาปฺยเต
เกฺลศห์ — ปัญหา, อธิก-ตรห์ — มาก, เตษามฺ — ของพวกเขา, อวฺยกฺต — ต่อสิ่งที่ไม่ปรากฏ, อาสกฺต — ยึดติด, เจตสามฺ — จิตใจของพวกเขา, อวฺยกฺตา — ต่อสิ่งที่ไม่ปรากฏ, หิ — แน่นอน, คติห์ — ก้าวหน้า, ทุห์ขมฺ — ด้วยปัญหา, เทห-วทฺภิห์ — โดยร่างกาย, อวาปฺยเต — บรรลุ

คำแปล

สำหรับพวกที่จิตใจยึดติดอยู่กับลักษณะที่ไร้รูปลักษณ์อันไม่ปรากฏขององค์ภควานฺ ความเจริญก้าวหน้านั้นมีปัญหามาก การทำความเจริญก้าวหน้าในนิกายนี้ยากเสมอสำหรับผู้ที่อยู่ในร่างกาย

คำอธิบาย

กลุ่มนักทิพย์นิยมผู้ปฏิบัติตามวิถีทางที่มองไม่เห็น ไม่เป็นที่ปรากฏ ลักษณะไร้รูปลักษณ์ขององค์ภควานฺ เรียกว่า ชฺญาน-โยคี และบุคคลผู้อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกโดยสมบูรณ์ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺ เรียกว่า ภกฺติ-โยคี บัดนี้ข้อแตกต่างระหว่าง ชฺญาน-โยค และ ภกฺติ-โยค ได้อธิบายอย่างชัดเจน วิธีการของ ชฺญาน-โยค ถึงแม้ว่าในที่สุดจะนำมาถึงเป้าหมายเดียวกันแต่มีปัญหามาก ขณะที่วิถีทางของ ภกฺติ-โยค วิธีการรับใช้บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าโดยตรงง่ายกว่า และเป็นธรรมชาติสำหรับวิญญาณที่อยู่ในร่างกาย ปัจเจกวิญญาณอยู่ภายในร่างกายตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จึงเป็นสิ่งยากมากที่จะให้เข้าใจเพียงแค่ทฤษฎีว่าตัวเขาไม่ใช่ร่างกาย ดังนั้น ภกฺติ-โยค ยอมรับพระปฏิมาขององค์กฺฤษฺณเป็นที่สักการบูชา เพราะมีแนวความคิดทางร่างกายบางอย่างตั้งมั่นอยู่ในจิตใจซึ่งนำมาปฏิบัติได้ แน่นอนว่าการบูชาบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าในรูปลักษณ์ของพระองค์ภายในวัดมิใช่เป็นการบูชารูปปั้น มีหลักฐานในวรรณกรรมพระเวทว่าการบูชาอาจเป็น สคุณ องค์ภควานฺผู้ครอบครองและ นิรฺคุณ องค์ภควานฺในลักษณะไม่ครอบครอง การบูชาพระปฏิมาในวัดเป็นการบูชา สคุณ เพราะว่าองค์ภควานฺมีลักษณะทางวัตถุเป็นผู้แทน แต่รูปลักษณ์ขององค์ภควานฺถึงแม้ว่ามีลักษณะทางวัตถุเป็นผู้แทน เช่น หิน ไม้ หรือภาพวาดสีน้ำมันอันที่จริงไม่ใช่วัตถุ นั่นคือธรรมชาติอันสมบูรณ์บริบูรณ์ขององค์ภควานฺ

ตัวอย่างง่ายๆให้ไว้ ที่นี้คือ เราอาจพบตู้ไปรษณีย์ริมถนน หากเราหย่อนซองจดหมายลงไปในตู้ไปรษณีย์เหล่านั้น โดยธรรมชาติแล้วจดหมายจะไปถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่ยากลำบาก แต่หากเป็นตู้เก่าหรือตู้ไปรษณีย์ปลอมที่เราอาจพบซึ่งกรมไปรษณีย์ไม่รับรอง การส่งจดหมายนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ ในทำนองเดียวกันองค์ภควานฺทรงมีผู้แทนที่รับรองได้ในรูปลักษณ์พระปฏิมาเรียกว่า อรฺจา-วิคฺรห อรฺจา-วิคฺรห นี้เป็นอวตารขององค์ภควานฺพระองค์จะทรงรับการรับใช้ผ่านรูปลักษณ์นั้น องค์ภควานฺผู้ทรงเดชมีพลังทั้งหมด ฉะนั้นอวตารในรูป อรฺจา-วิคฺรห ทรงสามารถรับการรับใช้ของสาวกเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในชีวิตที่อยู่ในสภาวะ

ดังนั้นสำหรับสาวกจะไม่มีความยากลำบากในการเข้าถึงองค์ภควานฺโดยตรงและรวดเร็ว แต่สำหรับพวกที่ปฏิบัติตามวิธีที่ไร้รูปลักษณ์เพื่อความรู้แจ้งทิพย์วิถีทางนั้นยาก เพราะต้องทำความเข้าใจกับผู้แทนที่ไม่ปรากฏของพระองค์ผ่านทางวรรณกรรมพระเวท เช่น อุปนิษทฺ และต้องเรียนภาษา ต้องเข้าใจความรู้สึกที่มองไม่เห็น และต้องรู้แจ้งถึงวิธีกรรมทั้งหลายเหล่านี้ซึ่งไม่ใช่ของง่ายสำหรับมนุษย์ธรรมดา บุคคลในกฺฤษฺณจิตสำนึกปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้จากการชี้นำของพระอาจารย์ทิพย์ผู้ที่เชื่อถือได้ ถวายความเคารพต่อพระปฏิมาสม่ำเสมอ สดับฟังพระบารมีขององค์ภควานฺ และรับประทานอาหารส่วนที่เหลือหลังจากถวายให้พระองค์แล้ว เพียงแต่ทำสิ่งเหล่านี้ผู้นั้นจะสามารถรู้แจ้งถึงบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าโดยง่ายดาย พวกไม่เชื่อในรูปลักษณ์รับเอาวิธีปฏิบัติที่มีปัญหาด้วยความเสี่ยงที่จะไม่รู้แจ้งถึงสัจธรรมในบั้นปลายโดยไม่ต้องสงสัย แต่ผู้ที่เชื่อในรูปลักษณ์โดยปราศจากความเสี่ยง ปัญหา หรือความยากลำบากจะเข้าถึงบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าโดยตรง มีข้อความในทำนองเดียวกันนี้ปรากฏใน ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ ว่าหากผู้ใดในที่สุดต้องศิโรราบต่อบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า (วิธีการศิโรราบนี้เรียกว่า ภกฺติ) แต่ไปรับเอาความยากลำบากในการเข้าใจว่าอะไรคือ พฺรหฺมนฺ และอะไรไม่ใช่ พฺรหฺมนฺ และได้ใช้เวลาของตนตลอดชีวิตปฏิบัติเช่นนี้ผลที่ได้ก็มีแต่ปัญหา ฉะนั้นจึงแนะนำไว้ ที่นี้ว่าเราไม่ควรรับเอาวิถีทางเพื่อการรู้แจ้งแห่งตนที่เป็นปัญหาเพราะว่าผลขั้นสุดท้ายจะไม่แน่นอน

สิ่งมีชีวิตเป็นปัจเจกวิญญาณชั่วกัลปวสานหากปรารถนาจะกลืนเข้าไปในส่วนทิพย์ เขาอาจบรรลุถึงความรู้แจ้งแง่มุมของความเป็นอมตะและความรู้ในธรรมชาติเดิมแท้ของตน แต่ส่วนที่เป็นความปลื้มปีติสุขจะไม่สามารถรู้แจ้ง ด้วยพระกรุณาธิคุณของสาวกบางรูปทำให้นักทิพย์นิยมผู้มีความรู้สูงในวิธีของ ชฺญาน-โยค นี้อาจมาถึงจุดแห่ง ภกฺติ-โยค หรือการอุทิศตนเสียสละรับใช้ เมื่อถึงเวลานั้นการฝึกปฏิบัติตามลัทธิไร้รูปลักษณ์เป็นเวลายาวนานจะกลายมาเป็นปัญหา เพราะไม่สามารถยกเลิกความคิดนั้นได้ ดังนั้นวิญญาณผู้อยู่ในร่างจะมีความยากลำบากกับสิ่งที่ไม่ปรากฏทั้งในขณะที่ปฏิบัติและในขณะที่รู้แจ้ง ทุกดวงวิญญาณมีเสรีภาพบางส่วนและควรรู้อย่างแน่ชัดว่าความรู้แจ้งที่ไม่เป็นที่ปรากฏนี้ฝืนต่อธรรมชาติของตนเอง ซึ่งเป็นทิพย์และมีความปลื้มปีติสุขจึงไม่ควรปฏิบัติตามวิธีนี้ สำหรับทุกๆปัจเจกชีวิตวิธีแห่งกฺฤษฺณจิตสำนึกจะนำมาซึ่งการปฏิบัติอุทิศตนเสียสละรับใช้อย่างสมบูรณ์จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากละเลยการอุทิศตนเสียสละรับใช้นี้จะเป็นอันตรายในการกลับไปสู่ลัทธิที่ไม่เชื่อในองค์ภควานฺ ดังนั้นวิธีที่มุ่งความตั้งใจไปยังสิ่งที่ไม่เป็นที่ปรากฏ ไม่สามารถมองเห็นได้ อยู่เหนือการเข้าถึงของประสาทสัมผัสได้แสดงไว้ในโศลกนี้ว่า ไม่ควรได้รับการส่งเสริมไม่ว่าในเวลาใดโดยเฉพาะในยุคนี้ซึ่งองค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงไม่แนะนำ