ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสาม

ธรรมชาติ ผู้รื่นเริง และจิตสำนึก

FULL
โศล 1-2:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ กฺฤษฺณ ที่รัก ข้าปรารถนาจะรู้เกี่ยวกับ ปฺรกฺฤติ (ธรรมชาติ) ปุรุษ (ผู้รื่นเริง) สนาม และผู้รู้สนาม ความรู้ และจุดมุ่งหมายแห่งความรู้ องค์ภควานตรัสว่า โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี ร่างกายนี้เรียกว่าสนาม และผู้ที่รู้ร่างกายนี้เรียกว่าผู้รู้สนาม
โศล 3:โอ้ ผู้สืบราชวงศ์แห่ง ภรต เธอควรเข้าใจว่าข้าเป็นผู้รู้ร่างกายทั้งหมดเช่นกัน การเข้าใจร่างกายและผู้รู้ร่างกายนี้เรียกว่าความรู้ นั่นคือความเห็นของข้า
โศล 4:บัดนี้จงฟังคำอธิบายโดยย่อจากข้าเกี่ยวกับสนามแห่งกิจกรรมนี้ว่าประกอบขึ้นอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร ผลิตมาจากไหน ใครคือผู้รู้สนามแห่งกิจกรรมและอิทธิพลของมันเป็นอย่างไร
โศล 5:ความรู้สนามแห่งกิจกรรมและผู้รู้กิจกรรมนั้นนักปราชญ์หลายท่านได้อธิบายไว้ในบทความพระเวทต่างๆ ได้แสดงไว้โดยเฉพาะใน เวทานฺต - สูตฺร ด้วยวิจารณญาณทั้งหมดของเหตุและผล
โศล 6-7:ธาตุยิ่งใหญ่ทั้งห้า อหังการ ปัญญา สิ่งที่ไม่ปรากฏ ประสาทสัมผัสทั้งสิบและจิตใจ อายตนะภายนอกทั้งห้า ความต้องการ ความเกลียดชัง ความสุข ความทุกข์ ผลรวม อาการแห่งชีวิต และความมั่นใจ ทั้งหมดนี้โดยสรุปพิจารณาว่าเป็นสนามแห่งกิจกรรม และผลกระทบซึ่งกันและกันของมัน
โศล 8-12:ความถ่อมตน ความไม่หยิ่งยะโส ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความเรียบง่าย การเข้าพบพระอาจารย์ทิพย์ผู้ที่เชื่อถือได้ ความสะอาด ความมั่นคง การควบคุมตนเองได้ การละทิ้งอายตนะภายนอกเพื่อสนองประสาทสัมผัส การปราศจากอหังการ การมองเห็นโทษภัยแห่งการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความไม่ยึดติด การเป็นอิสระจากพันธนาการกับลูกหลาน ภรรยา บ้าน ฯลฯ ความเสมอภาคท่ามกลางเหตุการณ์ที่ชื่นชอบและไม่ชื่นชอบ การอุทิศตนเสียสละแก่ข้าด้วยความบริสุทธิ์ ความสม่ำเสมอ ความปรารถนาอยู่ในสถานที่สันโดษ ความไม่ยึดติดกับฝูงชนโดยทั่วไป การยอมรับความสำคัญในการรู้แจ้งแห่งตนและแสวงหาสัจธรรมทางปรัชญา ข้าประกาศว่าทั้งหมดนี้คือ ความรู้ อะไรที่นอกเหนือไปจากนี้คือ อวิชชา
โศล 13:บัดนี้ข้าจะอธิบายถึงสิ่งที่ควรรู้ เมื่อรู้แล้วเธอจะได้รับรสอมตะว่า พฺรหฺมนฺ หรือดวงวิญญาณไม่มีจุดเริ่มต้น เป็นรองข้า อยู่เหนือเหตุและผลของโลกวัตถุนี้
โศล 14:ทุกแห่งหนล้วนเป็นพระกร พระเพลา พระเนตร พระเศียร และพระพักตร์ของพระองค์พระองค์ทรงมีพระกรรณอยู่ทุกหนทุกแห่ง องค์อภิวิญญาณทรงเป็นเช่นนี้ ทรงแผ่กระจายอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง
โศล 15:องค์อภิวิญญาณทรงเป็นแหล่งกำเนิดเดิมของประสาทสัมผัสทั้งหมด ถึงกระนั้นพระองค์ทรงไม่มีประสาทสัมผัส ถึงแม้ว่าทรงเป็นผู้ค้ำจุนมวลชีวิตพระองค์ก็ทรงไม่ยึดติด ทรงเป็นทิพย์อยู่เหนือระดับธรรมชาติ และในขณะเดียวกันทรงเป็นเจ้านายของระดับแห่งธรรมชาติวัตถุทั้งหมด
โศล 16:สัจธรรมสูงสุดทรงอยู่ภายนอกและภายในของมวลชีวิต ทั้งที่เคลื่อนที่และไม่เคลื่อนที่ เนื่องจากพระองค์ทรงมีความละเอียดอ่อนจึงทรงอยู่เหนือพลังอำนาจของประสาทสัมผัสวัตถุที่จะเห็นหรือจะรู้ได้ ถึงแม้ว่าทรงอยู่ไกลแสนไกลพระองค์ก็ทรงอยู่ใกล้กับมวลชีวิต
โศล 17:ถึงแม้ว่าองค์อภิวิญญาณดูเหมือนจะแบ่งแยกในชีวิตทั้งหลาย พระองค์ทรงไม่เคยแบ่งแยก ทรงสถิตเสมือนเป็นหนึ่ง ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ค้ำจุนทุกๆชีวิต เข้าใจว่าพระองค์ทรงกลืนและพัฒนาทั้งหมด
โศล 18:พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของแสงในสิ่งที่เจิดจรัสทั้งหลาย ทรงอยู่เหนือความมืดแห่งวัตถุ และทรงไม่ปรากฏ พระองค์คือความรู้ พระองค์คือตัวแห่งความรู้ และพระองค์คือจุดมุ่งหมายแห่งความรู้ พระองค์ทรงสถิตอยู่ภายในหัวใจของทุกๆชีวิต
โศล 19:ดังนั้นข้าได้อธิบายโดยสรุปถึงสนามแห่งกิจกรรม (ร่างกาย) ความรู้ และสิ่งที่รู้ได้ บรรดาสาวกของข้าเท่านั้นที่สามารถเข้าใจโดยตลอด และบรรลุถึงธรรมชาติของข้า
โศล 20:ควรเข้าใจว่าธรรมชาติวัตถุและสิ่งมีชีวิตไม่มีจุดเริ่มต้น การเปลี่ยนแปลงและระดับของวัตถุเป็นผลผลิตของธรรมชาติวัตถุ
โศล 21:กล่าวไว้ว่าธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดของเหตุและผลทางวัตถุทั้งหลาย ขณะที่สิ่งมีชีวิตเป็นแหล่งกำเนิดของความทุกข์และความสุขต่างๆ ในโลกนี้
โศล 22:สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติวัตถุปฏิบัติตามวิถีแห่งชีวิต รื่นเริงกับสามระดับของธรรมชาติ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากการมาคบหาสมาคมกับธรรมชาติวัตถุนั้น ดังนั้นเขาจึงพบกับความดีและความชั่วในเผ่าพันธุ์ต่างๆ
โศล 23:ในร่างกายนี้มีผู้รื่นเริงทิพย์อีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นองค์ภควานฺ ทรงเป็นเจ้าของสูงสุด ทรงประทับอยู่ในฐานะผู้ดูแล และผู้ให้อนุญาต และผู้ที่รู้จักในฐานะองค์อภิวิญญาณ
โศล 24:ผู้เข้าใจปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติวัตถุ สิ่งมีชีวิต และผลกระทบซึ่งกันและกันของระดับต่างๆแห่งธรรมชาตินี้ แน่นอนว่าจะได้รับอิสรภาพ เขาจะไม่มาเกิดที่นี่อีกไม่ว่าสถานภาพปัจจุบันจะเป็นเช่นไรก็ตาม
โศล 25:บางคนสำเหนียกองค์อภิวิญญาณภายในตนเองด้วยการทำสมาธิ บางคนสำเหนียกด้วยการพัฒนาความรู้ และยังมีผู้อื่นที่สำเหนียกด้วยการทำงานโดยไม่ต้องการผลทางวัตถุ
โศล 26:ยังมีพวกที่ถึงแม้ไม่ชำนาญในความรู้ทิพย์ แต่เมื่อสดับฟังเกี่ยวกับองค์ภควานจากผู้อื่นก็เริ่มบูชาพระองค์เนื่องจากมีแนวโน้มชอบสดับฟังจากผู้ที่เชื่อถือได้ พวกเขาจะข้ามพ้นวิถีแห่งการเกิดและการตายเช่นเดียวกัน
โศล 27:โอ้ ผู้นำแห่ง ภารต จงรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเห็นปรากฏอยู่ ทั้งเคลื่อนที่และไม่เคลื่อนที่ เป็นเพียงการรวมตัวของสนามแห่งกิจกรรมและผู้รู้สนาม
โศล 28:ผู้เห็นองค์อภิวิญญาณพร้อมกับปัจเจกวิญญาณในทุกๆร่าง และเข้าใจว่าทั้งดวงวิญญาณและอภิวิญญาณภายในร่างกายที่สูญสลายนี้ไม่มีวันถูกทำลาย เป็นผู้เห็นโดยแท้จริง
โศล 29:ผู้เห็นอภิวิญญาณปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งอย่างเสมอภาคภายในทุกๆชีวิต ไม่ปล่อยให้จิตของตนทำให้ตัวเองตกลงต่ำ ดังนั้นเขาจึงบรรลุถึงจุดมุ่งหมายทิพย์
โศล 30:ผู้สามารถเห็นว่ากิจกรรมทั้งหลายที่ร่างกายกระทำซึ่งธรรมชาติวัตถุเป็นผู้สร้าง และเห็นว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรเลยนั้นเป็นผู้เห็นที่แท้จริง
โศล 31:เมื่อมนุษย์ผู้มีเหตุผลหยุดการเห็นลักษณะที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากร่างกายที่ไม่เหมือนกัน และเห็นว่าสิ่งมีชีวิตแผ่กระจายไปทุกหนทุกแห่งได้อย่างไร เขาบรรลุถึงแนวคิด พฺรหฺมนฺ
โศล 32:พวกที่มีวิสัยทัศน์แห่งความเป็นอมตะสามารถเห็นว่าดวงวิญญาณที่ไม่มีวันสูญสลาย เป็นทิพย์ เป็นอมตะ และอยู่เหนือระดับต่างๆ ของธรรมชาติ ถึงแม้มาสัมผัสกับร่างวัตถุ โอ้ อรฺชุน ดวงวิญญาณมิได้ทำอะไร และไม่ได้ถูกพันธนาการ
โศล 33:เนื่องด้วยธรรมชาติที่ละเอียดอ่อนท้องฟ้ามิได้ผสมกับสิ่งใดถึงแม้ว่าจะแผ่กระจายไปทั่ว ในทำนองเดียวกันดวงวิญญาณผู้สถิตในวิสัยทัศน์ พฺรหฺมนฺ ก็มิได้ผสมกับร่างกาย ถึงแม้สถิตในร่างกายนั้น
โศล 34:โอ้ โอรสแห่ง ภรต ดังเช่นดวงอาทิตย์ดวงเดียวส่องแสงสว่างไปทั่วทั้งจักรวาลนี้ สิ่งมีชีวิตภายในร่างกายก็เช่นเดียวกัน แผ่กระจายไปทั่วร่างกายด้วยจิตสำนึก
โศล 35:พวกที่เห็นด้วยดวงตาแห่งความรู้ถึงข้อแตกต่างระหว่างร่างกาย และผู้รู้ร่างกาย และยังสามารถเข้าใจวิธีกรรมแห่งความหลุดพ้นจากพันธนาการในธรรมชาติวัตถุ บรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด