ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสาม

ธรรมชาติ ผู้รื่นเริง และจิตสำนึก

โศลก 18

jyotiṣām api taj jyotis
tamasaḥ param ucyate
jñānaṁ jñeyaṁ jñāna-gamyaṁ
hṛdi sarvasya viṣṭhitam
โชฺยติษามฺ อปิ ตชฺ โชฺยติสฺ
ตมสห์ ปรมฺ อุจฺยเต
ชฺญานํ เชฺญยํ ชฺญาน-คมฺยํ
หฺฤทิ สรฺวสฺย วิษฺฐิตมฺ
โชฺยติษามฺ — ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เจิดจรัส, อปิ — เช่นกัน, ตตฺ — นั้น, โชฺยติห์ — แหล่งกำเนิดของแสง, ตมสห์ — ความมืด, ปรมฺ — เหนือ, อุจฺยเต — กล่าวไว้ว่า, ชฺญานมฺ — ความรู้, ชฺเญยมฺ — ตัวรู้, ชฺญาน-คมฺยมฺ — เข้าพบได้ด้วยความรู้, หฺฤทิ — ในหัวใจ, สรฺวสฺย — ของทุกคน, วิษฺฐิตมฺ — สถิต

คำแปล

พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของแสงในสิ่งที่เจิดจรัสทั้งหลาย ทรงอยู่เหนือความมืดแห่งวัตถุ และทรงไม่ปรากฏ พระองค์คือความรู้ พระองค์คือตัวแห่งความรู้ และพระองค์คือจุดมุ่งหมายแห่งความรู้ พระองค์ทรงสถิตอยู่ภายในหัวใจของทุกๆชีวิต

คำอธิบาย

อภิวิญญาณ บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงเป็นแหล่งกำเนิดของแสงในสิ่งที่เจิดจรัสทั้งหมด เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และหมู่ดวงดาว ในวรรณกรรมพระเวทเราพบว่าในอาณาจักรทิพย์ไม่มีความจำเป็นต้องมีดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ เพราะว่ามีรัศมีขององค์ภควานฺอยู่ที่นั่น ในโลกวัตถุ พฺรหฺม-โชฺยติรฺ หรือรัศมีทิพย์ของพระองค์ถูก มหตฺ-ตตฺตฺว หรือธาตุวัตถุต่างๆปกคลุมอยู่ ดังนั้นในโลกวัตถุนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้แสงสว่างแต่ในโลกทิพย์ไม่มีความจำเป็นกับสิ่งเหล่านี้ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในวรรณกรรมพระเวทว่า เนื่องจากรัศมีอันเจิดจรัสของพระองค์ทุกสิ่งทุกอย่างจึงสว่างไสว เป็นที่ชัดเจนว่าสถานภาพของพระองค์มิได้อยู่ในโลกวัตถุ พระองค์ทรงสถิตในโลกทิพย์ซึ่งอยู่ในท้องฟ้าทิพย์ที่ห่างไกลมาก ได้ยืนยันไว้ในวรรณกรรมพระเวทเช่นกันว่า อาทิตฺย-วรฺณํ ตมสห์ ปรสฺตาตฺ (เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ 3.8) พระองค์ทรงเหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงอยู่ตลอดเวลา แต่ทรงอยู่เหนือจากความมืดแห่งโลกวัตถุนี้มากมายนัก

ความรู้ของพระองค์ทรงเป็นทิพย์ และวรรณกรรมพระเวทยืนยันว่า พฺรหฺมนฺ คือความรู้ทิพย์ที่มารวมกัน สำหรับผู้ที่กระตือรือร้นจะย้ายไปยังโลกทิพย์องค์ภควานฺผู้สถิตในหัวใจของทุกๆคนจะทรงให้ความรู้ มนต์พระเวทบทหนึ่ง (เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ 6.18) กล่าวว่า ตํ เทวมฺ อาตฺม-พุทฺธิ-ปฺรกาศํ มุมุกฺษุรฺ ไว ศรณมฺ อหํ ปฺรปเทฺย หากต้องการความหลุดพ้น เราต้องศิโรราบต่อบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ได้ยืนยันไว้ในวรรณกรรมพระเวทเช่นกันเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งความรู้ ตมฺ เอว วิทิตฺวาติ มฺฤตฺยุมฺ เอติ “ด้วยการรู้ถึงพระองค์เท่านั้นที่เราสามารถข้ามพ้นอาณาเขตแห่งการเกิดและการตายได้” (เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ 3.8)

องค์ภควานฺทรงสถิตในหัวใจของทุกๆชีวิตในฐานะผู้ควบคุมสูงสุด ทรงมีพระเพลา และพระกรที่กระจายไปทุกหนทุกแห่ง เราจะกล่าวเช่นนี้ไม่ได้กับปัจเจกวิญญาณ ดังนั้นจึงมีสองผู้รู้สนามแห่งกิจกรรมคือปัจเจกวิญญาณและอภิวิญญาณ เช่นนี้ต้องยอมรับว่าแขนและขาของเราอยู่เฉพาะที่ตัวเราเท่านั้น แต่พระหัตถ์และพระเพลาขององค์กฺฤษฺณทรงกระจายไปทุกหนทุกแห่ง ได้ยืนยันไว้ใน เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ (3.17) ว่า สรฺวสฺย ปฺรภุมฺ อีศานํ สรฺวสฺย ศรณํ พฺฤหตฺ บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าองค์อภิวิญญาณทรงเป็น ปฺรภุ หรือพระอาจารย์ของมวลชีวิต ทรงเป็นที่พักพิงสูงสุดของมวลชีวิต ดังนั้นจึงเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์อภิวิญญาณและปัจเจกวิญญาณจะแตกต่างกันเสมอ