ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสาม

ธรรมชาติ ผู้รื่นเริง และจิตสำนึก

โศลก 21

kārya-kāraṇa-kartṛtve
hetuḥ prakṛtir ucyate
puruṣaḥ sukha-duḥkhānāṁ
bhoktṛtve hetur ucyate
การฺย-การณ-กรฺตฺฤเตฺว
เหตุห์ ปฺรกฺฤติรฺ อุจฺยเต
ปุรุษห์ สุข-ทุห์ขานำ
โภกฺตฺฤเตฺว เหตุรฺ อุจฺยเต
การฺย — ของผล, การณ — และเหตุ, กรฺตฺฤเตฺว — ในเรื่องของการสร้าง, เหตุห์ — เครื่องมือ, ปฺรกฺฤติห์ — ธรรมชาติวัตถุ, อุจฺยเต — กล่าวว่า, ปุรุษห์ — สิ่งมีชีวิต, สุข — ความสุข, ทุห์ขานามฺ — และความทุกข์, โภกฺตฺฤเตฺว — ในความรื่นเริง, เหตุห์ — เครื่องมือ, อุจฺยเต — กล่าวว่า

คำแปล

กล่าวไว้ว่าธรรมชาติเป็นแหล่งกำเนิดของเหตุและผลทางวัตถุทั้งหลาย ขณะที่สิ่งมีชีวิตเป็นแหล่งกำเนิดของความทุกข์และความสุขต่างๆ ในโลกนี้

คำอธิบาย

ปรากฏการณ์ที่ไม่เหมือนกันของร่างกายและประสาทสัมผัสในสิ่งมีชีวิตต่างๆก็เนื่องมาจากธรรมชาติวัตถุ มี 8,400,000 เผ่าพันธุ์ชีวิตที่แตกต่างกัน ความหลากหลายเหล่านี้เป็นการสร้างของธรรมชาติวัตถุ มันเกิดขึ้นมาจากความสุขทางประสาทสัมผัสที่ไม่เหมือนกันของสิ่งมีชีวิตผู้ปรารถนาจะอยู่ในร่างนี้หรือร่างนั้น เมื่อถูกส่งไปอยู่ในร่างกายต่างๆเขารื่นเริงอยู่กับความสุขและความทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน ความสุขและความทุกข์ทางวัตถุก็เนื่องมาจากร่างกายซึ่งตามความเป็นจริงไม่ใช่ตัวเขา ในระดับเดิมแท้ของตัวเขาความรื่นเริงนั้นเป็นสิ่งแน่นอน เพราะนั่นคือสถานภาพอันแท้จริงของเขาเนื่องจากความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าเหนือธรรมชาติวัตถุเขาจึงมาอยู่ในโลกวัตถุ ในโลกทิพย์ไม่มีสิ่งเหล่านี้ โลกทิพย์นั้นบริสุทธิ์แต่ในโลกวัตถุทุกคนดิ้นรนด้วยความยากลำบากเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขทางร่างกาย อาจทำให้ชัดเจนขึ้นที่กล่าวว่าร่างกายนี้คือผลของประสาทสัมผัสต่างๆ ประสาทสัมผัสเป็นเครื่องมือเพื่อสนองความต้องการบัดนี้ผลมวลรวมคือร่างกาย และประสาทสัมผัสที่เป็นเครื่องมือธรรมชาติวัตถุเป็นผู้ให้จะชัดเจนยิ่งขึ้นในโศลกต่อไป สิ่งมีชีวิตได้รับพรหรือถูกสาปในสถานการณ์ต่างๆตามความปรารถนาและตามกรรมในอดีตของตน ธรรมชาติวัตถุได้วางเขาลงในที่ต่างๆตามความต้องการและตามกรรมของเขา สิ่งมีชีวิตเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้ได้สถานที่พำนักเช่นนี้ และได้รับความสุขหรือความทุกข์ซึ่งเป็นผลที่ตามมา เมื่อถูกจับให้มาอยู่ในร่างกายโดยเฉพาะนี้เขาได้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของธรรมชาติ เพราะว่าร่างกายเป็นวัตถุซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎแห่งธรรมชาติ ในขณะนั้นสิ่งมีชีวิตไม่มีอำนาจที่จะไปเปลี่ยนกฎเกณฑ์ สมมติว่าสิ่งมีชีวิตถูกจับให้ไปอยู่ในร่างสุนัขเขาต้องทำตัวให้เหมือนกับสุนัขทันที จะทำตัวเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และหากว่าสิ่งมีชีวิตถูกจับให้ไปอยู่ในร่างสุกรเขาก็จะถูกบังคับให้กินอุจจาระและทำตัวเหมือนกับสุกร ในทำนองเดียวกันหากสิ่งมีชีวิตถูกจับไปอยู่ในร่างเทวดาเขาจะต้องทำตัวตามสถานภาพทางร่างกายของเขา นี่คือกฎแห่งธรรมชาติ แต่ในทุกๆกรณีอภิวิญญาณทรงอยู่กับปัจเจกวิญญาณ ได้อธิบายไว้ในคัมภีร์พระเวท (มุณฺฑก อุปนิษทฺ 3.1.1) ดังนี้ ทฺวา สุปรฺณา สยุชา สขายห์ องค์ภควานฺทรงมีพระเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตจึงทรงอยู่ร่วมกับปัจเจกวิญญาณเสมอ และในทุกๆสถานการณ์พระองค์ทรงปรากฏในฐานะอภิวิญญาณหรือ ปรมาตฺมา