ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสาม

ธรรมชาติ ผู้รื่นเริง และจิตสำนึก

โศลก 6-7

mahā-bhūtāny ahaṅkāro
buddhir avyaktam eva ca
indriyāṇi daśaikaṁ ca
pañca cendriya-gocarāḥ
มหา-ภูตานฺยฺ อหงฺกาโร
พุทฺธิรฺ อวฺยกฺตมฺ เอว จ
อินฺทฺริยาณิ ทไศกํ จ
ปญฺจ เจนฺทฺริย-โคจราห์
icchā dveṣaḥ sukhaṁ duḥkhaṁ
saṅghātaś cetanā dhṛtiḥ
etat kṣetraṁ samāsena
sa-vikāram udāhṛtam
อิจฺฉา เทฺวษห์ สุขํ ทุห์ขํ
สงฺฆาตศฺ เจตนา ธฺฤติห์
เอตตฺ เกฺษตฺรํ สมาเสน
ส-วิการมฺ อุทาหฺฤตมฺ
มหา-ภูตานิ — ธาตุที่ยิ่งใหญ่, อหงฺการห์ — อหังการ, พุทฺธิห์ — ปัญญา, อวฺยกฺตมฺ — ไม่ปรากฏ, เอว — แน่นอน, — เช่นกัน, อินฺทฺริยาณิ — ประสาทสัมผัสต่างๆ, ทศ-เอกมฺ — สิบเอ็ด, — เช่นกัน, ปญฺจ — ห้า, — เช่นกัน, อินฺทฺริย-โค-จราห์ — อายตนะภายนอก, อิจฺฉา — ความปรารถนา, เทฺวษห์ — ความเกลียด, สุขมฺ — ความสุข, ทุห์ขมฺ — ความทุกข์, สงฺฆาตห์ — การรวมกัน, เจตนา — อาการแห่งชีวิต, ธฺฤติห์ — ความมั่นใจ, เอตตฺ — ทั้งหมดนี้, กฺเษตฺรมฺ — สนามแห่งกิจกรรม, สมาเสน — โดยสรุป, ส-วิการมฺ — มีผลกระทบซึ่งกันและกัน, อุทาหฺฤตมฺ — ให้ตัวอย่างเพื่อแสดง

คำแปล

ธาตุยิ่งใหญ่ทั้งห้า อหังการ ปัญญา สิ่งที่ไม่ปรากฏ ประสาทสัมผัสทั้งสิบและจิตใจ อายตนะภายนอกทั้งห้า ความต้องการ ความเกลียดชัง ความสุข ความทุกข์ ผลรวม อาการแห่งชีวิต และความมั่นใจ ทั้งหมดนี้โดยสรุปพิจารณาว่าเป็นสนามแห่งกิจกรรม และผลกระทบซึ่งกันและกันของมัน

คำอธิบาย

จากคำกล่าวของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เชื่อถือได้ทั้งหลายบทมนต์พระเวทและคำพังเพยของ เวทานฺต-สูตฺร ในส่วนต่างๆของโลกนี้สามารถเข้าใจได้ดังนี้ ก่อนอื่นมีดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ เหล่านี้คือธาตุยิ่งใหญ่ทั้งห้า (มหา-ภูต) จากนั้นมีอหังการ ปัญญา และสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุในสภาวะที่ไม่ปรากฏ จากนั้นมีประสาทสัมผัสทั้งห้าที่รับความรู้ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง จากนั้นมีประสาทสัมผัสที่ทำงานทั้งห้าคือ เสียง ขา มือ ทวารหนัก และอวัยวะสืบพันธุ์ จากนั้นที่เหนือไปกว่าประสาทสัมผัสมีจิตใจซึ่งอยู่ภายใน และอาจเรียกว่าประสาทสัมผัสภายใน ฉะนั้นเมื่อรวมจิตใจเข้าไปด้วยจะมีประสาทสัมผัสทั้งหมดสิบเอ็ด จากนั้นมีอายตนะภายนอกทั้งห้าคือ กลิ่น รส รูป สัมผัส และเสียง ตอนนี้ผลรวมของธาตุทั้งยี่สิบสี่นี้เรียกว่า สนามแห่งกิจกรรม หากผู้ใดทำการศึกษาวิเคราะห์ยี่สิบสี่สาขาวิชานี้เขาจะสามารถเข้าใจสนามแห่งกิจกรรมได้เป็นอย่างดี จากนั้นก็มีความต้องการ ความเกลียดชัง ความสุข และความทุกข์ซึ่งเป็นผลกระทบซึ่งกันและกันและเป็นผู้แทนของธาตุยิ่งใหญ่ทั้งห้าในร่างกายอันหยาบ ลักษณะอาการของชีวิตแสดงออกมาทางจิตสำนึก และความมั่นใจเป็นปรากฏการณ์ของร่างที่ละเอียด เช่น จิตใจ อหังการ และปัญญา ธาตุอันละเอียดนี้รวมอยู่ในสนามแห่งกิจกรรม

ธาตุยิ่งใหญ่ทั้งห้าเป็นตัวแทนของอหังการซึ่งเป็นตัวแทนของระดับพื้นฐานของอหังการเรียกทางเทคนิคว่า แนวความคิดทางวัตถุ หรือ ตามส-พุทฺธิ หรือปัญญาในอวิชชา ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นตัวแทนระดับที่ไม่ปรากฏของสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ ระดับที่ไม่ปรากฏของธรรมชาติวัตถุเรียกว่า ปฺรธาน

ผู้ปรารถนาจะรู้ธาตุทั้งยี่สิบสี่โดยละเอียดพร้อมทั้งผลกระทบซึ่งกันและกันควรศึกษาปรัชญาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ภควัท-คีตา นี้ให้ไว้แต่เพียงบทสรุปเท่านั้น

ร่างกายเป็นตัวแทนของปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้และมีการเปลี่ยนแปลงหกขั้นตอนคือ ร่างกายเกิดขึ้นมา เจริญเติบโต คงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง สืบพันธุ์ จากนั้นเริ่มเสื่อมลง และในที่สุดก็สูญสลายไป ดังนั้นสนามจึงเป็นวัตถุที่ไม่ถาวร อย่างไรก็ดี กฺเษตฺร-ชฺญ ผู้รู้สนามหรือตัวเจ้าของสนามนั้นแตกต่างกัน