ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสี่

สามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ

โศลก 2

idaṁ jñānam upāśritya
mama sādharmyam āgatāḥ
sarge ’pi nopajāyante
pralaye na vyathanti ca
อิทํ ชฺญานมฺ อุปาศฺริตฺย
มม สาธรฺมฺยมฺ อาคตาห์
สรฺเค ’ปิ โนปชายนฺเต
ปฺรลเย น วฺยถนฺติ จ
อิทมฺ — นี้, ชฺญานมฺ — ความรู้, อุปาศฺริตฺย — มาพึ่ง, มม — ของข้า, สาธรฺมฺยมฺ — ธรรมชาติเดียวกัน, อาคตาห์ — บรรลุ, สรฺเค อปิ — แม้ในการสร้าง, — ไม่เคย, อุปชายนฺเต — เกิด, ปฺรลเย — ในการทำลาย, — ไม่, วฺยถนฺติ — วุ่นวายใจ, — เช่นกัน

คำแปล

เมื่อมาตั้งมั่นในความรู้นี้เขาสามารถบรรลุถึงธรรมชาติทิพย์เหมือนกับตัวข้า เมื่อสถิตเช่นนี้เขาจะไม่เกิดเมื่อถึงเวลาสร้าง และจะไม่วุ่นวายใจเมื่อถึงเวลาทำลาย

คำอธิบาย

หลังจากได้ความรู้ทิพย์อันสมบูรณ์เราจะได้รับคุณลักษณะเดียวกันกับองค์ภควานฺ และมาเป็นผู้ที่มีอิสระจากการเกิดและการตายซ้ำซาก อย่างไรก็ดีเราไม่สูญเสียบุคลิกลักษณะของตนเองในฐานะที่เป็นปัจเจกวิญญาณ เป็นที่เข้าใจได้จากวรรณกรรมพระเวทว่า ดวงวิญญาณผู้หลุดพ้นที่มาถึงดาวเคราะห์ทิพย์ในท้องฟ้าทิพย์หมายจะมาพึ่งพระบาทรูปดอกบัวขององค์ภควานฺ และปฏิบัติรับใช้พระองค์ด้วยความรักทิพย์เสมอ ฉะนั้นแม้หลังจากหลุดพ้นแล้วสาวกจะไม่สูญเสียปัจเจกบุคลิกลักษณะของตนเอง

โดยทั่วไปในโลกวัตถุความรู้ใดๆที่เราได้รับนั้นจะแปดเปื้อนไปด้วยมลทินจากสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ ความรู้ที่ไม่เปื้อนมลทินจากสามระดับแห่งธรรมชาติเรียกว่าความรู้ทิพย์ ทันทีที่สถิตในความรู้ทิพย์เราได้อยู่ในระดับเดียวกันกับองค์ภควานฺ พวกที่ไม่มีความรู้แห่งท้องฟ้าทิพย์เชื่อว่าหลังจากได้รับอิสรภาพจากกิจกรรมทางวัตถุในรูปลักษณ์ทางวัตถุ บุคลิกลักษณะทิพย์นี้จะกลายมาเป็นผู้ที่ไร้รูปลักษณ์ ไม่มีความหลากหลาย อย่างไรก็ดีในโลกทิพย์มีความหลากหลายเหมือนกับโลกวัตถุเช่นเดียวกัน พวกที่อยู่ในอวิชชาเช่นนี้คิดว่าความเป็นอยู่ทิพย์ตรงกันข้ามกับความหลากหลายทางวัตถุ แต่อันที่จริงในท้องฟ้าทิพย์เรามีรูปลักษณ์ทิพย์ มีกิจกรรมทิพย์ และมีสถานภาพทิพย์ซึ่งเรียกว่าชีวิตแห่งการอุทิศตนเสียสละ ในบรรยากาศนั้นกล่าวไว้ว่าไม่มีมลทินแปดเปื้อน ที่นั้นเราเสมอภาคกับองค์ภควานฺในด้านคุณภาพ เมื่อได้รับความรู้เช่นนี้เราต้องพัฒนาคุณสมบัติทิพย์ทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่พัฒนาคุณสมบัติทิพย์จะไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้าง หรือการทำลายของโลกวัตถุ