ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสี่

สามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ

โศลก 7

rajo rāgātmakaṁ viddhi
tṛṣṇā-saṅga-samudbhavam
tan nibadhnāti kaunteya
karma-saṅgena dehinam
รโช ราคาตฺมกํ วิทฺธิ
ตฺฤษฺณา-สงฺค-สมุทฺภวมฺ
ตนฺ นิพธฺนาติ เกานฺเตย
กรฺม-สงฺเคน เทหินมฺ
รชห์ — ระดับตัณหา, ราค-อาตฺมกมฺ — เกิดจากความต้องการหรือราคะ, วิทฺธิ — รู้, ตฺฤษฺณา — ด้วยความทะเยอทะยาน, สงฺค — คบหาสมาคม, สมุทฺภวมฺ — ผลิตจาก, ตตฺ — นั้น, นิพธฺนาติ — พันธนาการ, เกานฺเตย — โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี, กรฺม-สงฺเคน — จากการคบหาสมาคมกับกิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุ, เทหินมฺ — ร่างกาย

คำแปล

ระดับตัณหาเกิดจากความต้องการและความใคร่ที่ไม่รู้จักพอ โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี ด้วยเหตุนี้สิ่งมีชีวิตในร่างจึงถูกพันธนาการอยู่กับการกระทำเพื่อผลทางวัตถุ

คำอธิบาย

ระดับตัณหามีลักษณะแห่งความเสน่หาระหว่างหญิงและชาย ผู้หญิงมีความเสน่หาสำหรับผู้ชาย และผู้ชายมีความเสน่หาสำหรับผู้หญิง เช่นนี้เรียกว่าระดับตัณหา เมื่อระดับตัณหาเพิ่มพูนขึ้นจะพัฒนาความทะเยอทะยานเพื่อความสุขทางวัตถุ และต้องการความสุขในการสนองประสาทสัมผัส บุคคลในระดับตัณหาต้องการเกียรติยศชื่อเสียงในสังคมหรือในชาติ และต้องการมีครอบครัวที่มีความสุขพร้อมกับลูกหลาน ภรรยา และบ้านที่ดี เหล่านี้คือผลผลิตของระดับตัณหา ตราบใดที่ยังทะเยอทะยานใฝ่ฝันสิ่งเหล่านี้เขาต้องทำงานหนักมาก ดังนั้นได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนตรงนี้ว่า เมื่อมาสัมผัสกับผลแห่งกิจกรรมของตนเองและถูกพันธนาการด้วยกิจกรรมเหล่านี้เพื่อให้ภรรยา ลูกหลาน และสังคมได้รับความพึงพอใจและยังต้องรักษาเกียรติยศชื่อเสียงเอาไว้เขาจึงต้องทำงาน ดังนั้นโลกวัตถุทั้งหมดส่วนใหญ่อยู่ในระดับตัณหา ความศิวิไลสมัยปัจจุบันพิจารณาว่าเจริญก้าวหน้าในมาตรฐานของระดับตัณหา ในอดีตสภาวะความเจริญก้าวหน้าพิจารณาว่าอยู่ในระดับความดี แม้พวกที่อยู่ในระดับความดียังหลุดพ้นไม่ได้แล้วพวกที่ถูกพันธนาการอยู่ในระดับตัณหาจะหลุดพ้นได้อย่างไร