ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบสี่

สามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ

โศลก 8

tamas tv ajñāna-jaṁ viddhi
mohanaṁ sarva-dehinām
pramādālasya-nidrābhis
tan nibadhnāti bhārata
ตมสฺ ตฺวฺ อชฺญาน-ชํ วิทฺธิ
โมหนํ สรฺว-เทหินามฺ
ปฺรมาทาลสฺย-นิทฺราภิสฺ
ตนฺ นิพธฺนาติ ภารต
ตมห์ — ระดับอวิชชา, ตุ — แต่, อชฺญาน-ชมฺ — ผลิตจากอวิชชา, วิทฺธิ — รู้, โมหนมฺ — ความหลง, สรฺว-เทหินามฺ — ของสิ่งมีชีวิตในร่างทั้งหมด, ปฺรมาท — ด้วยความบ้าคลั่ง, อาลสฺย — เกียจคร้าน, นิทฺราภิห์ — และนอน, ตตฺ — นั้น, นิพธฺนาติ — พันธนาการ, ภารต — โอ้ โอรสแห่งบาระทะ

คำแปล

โอ้ โอรสแห่ง ภรต จงรู้ว่าระดับแห่งความมืดเกิดจากอวิชชาเป็นความหลงของมวลชีวิตที่อยู่ในร่าง ผลของระดับนี้คือ ความบ้าคลั่ง ความเกียจคร้าน และการนอนซึ่งผูกมัดพันธวิญญาณ

คำอธิบาย

โศลกนี้ได้ใช้คำว่า ตุ โดยเฉพาะและสำคัญมาก เช่นนี้หมายความว่า ระดับอวิชชามีคุณสมบัติของวิญญาณในร่างที่แปลก ระดับอวิชชาตรงกันข้ามกับระดับความดี จากการพัฒนาความรู้ทำให้ผู้อยู่ในระดับความดีสามารถเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แต่ในระดับอวิชชาตรงกันข้ามเพราะทุกคนที่อยู่ภายใต้มนต์ขลังของระดับอวิชชากลายเป็นบ้า คนบ้าไม่สามารถเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แทนที่จะเจริญก้าวหน้ากลับทำตัวให้ตกต่ำลง คำนิยามของระดับอวิชชาได้กล่าวไว้ในวรรณกรรมพระเวทว่า วสฺตุ-ยาถาตฺมฺย-ชฺญานาวรกํ วิปรฺยย-ชฺญาน-ชนกํ ตมห์ ภายใต้มนต์สะกดแห่งอวิชชาทำให้ไม่สามารถเข้าใจสิ่งใดตามความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ทุกคนเห็นว่าคุณปู่คุณตาได้ตายไปแล้ว ดังนั้นตัวเราเองจะต้องตายเช่นกัน มนุษย์ก็ต้องตาย ลูกหลานที่เราให้กำเนิดก็จะต้องตายเช่นเดียวกัน ดังนั้นความตายเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงกระนั้นผู้คนก็ยังสะสมเงินทองอย่างบ้าคลั่งและทำงานหนักมากทั้งวันทั้งคืนโดยไม่สนใจกับดวงวิญญาณอมตะ นี่คือความบ้าคลั่ง และในความบ้าคลั่งนั้นเขาจะไม่เต็มใจที่จะเจริญก้าวหน้าในความเข้าใจวิถีทิพย์ บุคคลเหล่านี้เกียจคร้านมากเมื่อได้รับเชิญให้ไปคบหาสมาคมเพื่อความเข้าใจวิถีทิพย์จะไม่ค่อยสนใจ พวกนี้จะไม่ตื่นตัวเหมือนพวกที่ถูกระดับตัณหาควบคุม ดังนั้นอีกอาการหนึ่งของคนที่อยู่ในระดับอวิชชาคือ นอนเกินความจำเป็น การนอนหกชั่วโมงก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่บุคคลในระดับอวิชชานอนอย่างน้อยวันละสิบหรือสิบสองชั่วโมง บุคคลเช่นนี้จะดูเศร้าสลดเสมอ มึนเมาอยู่กับสิ่งเสพติดและการนอน สิ่งเหล่านี้คือลักษณะอาการของบุคคลที่อยู่ในสภาวะระดับอวิชชา