ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบแปด

บทสรุปความสมบูรณ์แห่งการเสียสละ

โศลก 58

mac-cittaḥ sarva-durgāṇi
mat-prasādāt tariṣyasi
atha cet tvam ahaṅkārān
na śroṣyasi vinaṅkṣyasi
มจฺ-จิตฺตห์ สรฺว-ทุรฺคาณิ
มตฺ-ปฺรสาทาตฺ ตริษฺยสิ
อถ เจตฺ ตฺวมฺ อหงฺการานฺ
น โศฺรษฺยสิ วินงฺกฺษฺยสิ
มตฺ — ของข้า, จิตฺตห์ — อยู่ในจิตสำนึก, สรฺว — ทั้งหมด, ทุรฺคาณิ — อุปสรรค, มตฺ-ปฺรสาทาตฺ — ด้วยพระเมตตาของข้า, ตริษฺยสิ — เธอจะข้ามพ้น, อถ — แต่, เจตฺ — หาก, ตฺวมฺ — เธอ, อหงฺการาตฺ — ด้วยอหังการ, น โศฺรษฺยสิ — ไม่ฟัง, วินงฺกฺษฺยสิ — เธอจะสูญเสีย

คำแปล

หากมีจิตสำนึกอยู่ที่ข้า เธอจะข้ามพ้นอุปสรรคแห่งพันธชีวิตทั้งหมดด้วยความกรุณาธิคุณของข้า อย่างไรก็ดีหากเธอไม่ทำงานในจิตสำนึกเช่นนี้แต่ทำตามอหังการ ไม่เชื่อฟังข้า เธอจะหลงทาง

คำอธิบาย

บุคคลในกฺฤษฺณจิตสำนึกไม่กระตือรือร้นเกินควรเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความเป็นอยู่ของตน คนโง่เขลาไม่สามารถเข้าใจความเป็นอิสรเสรีจากความวิตกกังวลทั้งหมดนี้ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกองค์ศฺรีกฺฤษฺณทรงกลายมาเป็นสหายสนิทที่สุด พระองค์ทรงดูแลความสะดวกสบายของสหายเสมอ และทรงให้ตัวพระองค์เองแก่สหายผู้ปฏิบัติวันละยี่สิบสี่ชั่วโมงด้วยการอุทิศตนเสียสละเพื่อให้พระองค์พอพระทัย ดังนั้นไม่ควรมีผู้ใดถูกอหังการแห่งแนวคิดชีวิตทางวัตถุนำพาไป เราไม่ควรคิดผิดๆว่าตนเองเป็นอิสระจากกฎแห่งธรรมชาติหรือเป็นอิสระในการกระทำ เราอยู่ภายใต้กฎอันเข้มงวดแห่งวัตถุ แต่ทันทีที่ปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกเราจะหลุดพ้นเป็นอิสระจากความสับสนทางวัตถุ ควรสังเกตอย่างรอบคอบว่าผู้ที่ไม่ปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกกำลังสูญเสียตนเองไปในวังวนแห่งวัตถุ ในมหาสมุทรแห่งการเกิดและการตาย ไม่มีพันธวิญญาณดวงไหนรู้อย่างแท้จริงว่าอะไรควรทำและอะไรไม่ควรทำ แต่บุคคลผู้ปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกเป็นอิสระในการกระทำ เพราะว่าองค์กฺฤษฺณทรงเป็นผู้กระตุ้นทุกสิ่งทุกอย่างจากภายใน และพระอาจารย์ทิพย์จะยืนยันเพื่อให้ความมั่นใจ