ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 17

avināśi tu tad viddhi
yena sarvam idaṁ tatam
vināśam avyayasyāsya
na kaścit kartum arhati
อวินาศิ ตุ ตทฺ วิทฺธิ
เยน สรฺวมฺ อิทํ ตตมฺ
วินาศมฺ อวฺยยสฺยาสฺย
น กศฺจิตฺ กรฺตุมฺ อรฺหติ
อวินาศิ — ไม่เสื่อมสลาย, ตุ — แต่, ตตฺ — นั้น, วิทฺธิ — รู้มัน, เยน — ผู้ซึ่ง, สรฺวมฺ — ร่างกายทั้งหมด, อิทมฺ — นี้, ตตมฺ — แผ่กระจายไปทั่ว, วินาศมฺ — การทำลาย, อวฺยยสฺย — แห่งการไม่เสื่อม สลาย, อสฺย — ของมัน, น กศฺจิตฺ — ไม่มีใคร, กรฺตุมฺ — ทำ, อรฺหติ — สามารถ

คำแปล

เธอควรทราบว่าสิ่งที่แผ่กระจายไปทั่วร่างกายถูกทำลายไม่ได้ ไม่มีผู้ใดสามารถทำลายดวงวิญญาณที่ไม่มีวันเสื่อมสลายนี้ได้

คำอธิบาย

โศลกนี้อธิบายถึงธรรมชาติอันแท้จริงของดวงวิญญาณที่แผ่กระจายไปทั่วร่างกาย ใครๆก็สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งที่แผ่กระจายไปทั่วร่างกายคือ จิตสำนึก ทุกคนมีความรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความสุขของร่างกายตามส่วนต่างๆหรือทั่วทั้งร่างกายได้ การแผ่กระจายของจิตสำนึกนี้จำกัดอยู่ภายในร่างกายของตนเอง ความเจ็บปวดและความสุขของร่างหนึ่งนั้นอีกร่างหนึ่งไม่สามารถรับรู้ได้ ดังนั้นในแต่ละร่างคือการรวมตัวของปัจเจกวิญญาณ และลักษณะอาการของจิตวิญญาณที่อยู่ในร่างสำเหนียกจากปัจเจกจิตสำนึกดวงวิญญาณนี้ มีขนาดเศษหนึ่งส่วนหนึ่งหมื่นของปลายเส้นผม เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ (5.9) ยืนยันไว้ดังนี้

พาลาคฺร-ศต-ภาคสฺย
ศตธา กลฺปิตสฺย จ
ภาโค ชีวห์ ส วิชฺเญยห์
ส จานนฺตฺยาย กลฺปเต
“เมื่อปลายเส้นผมแบ่งออกเป็นร้อยส่วน และเศษหนึ่งส่วนร้อยนี้แบ่งออกเป็นร้อยส่วนอีกครั้ง แต่ละส่วนคือขนาดของดวงวิญญาณ”คำแปลเดียวกันนี้นั้นได้แปลไว้ในลักษณะเดียวกันว่า

เกศาคฺร-ศต-ภาคสฺย
ศตำศห์ สาทฺฤศาตฺมกห์
ชีวห์ สูกฺษฺม-สฺวรูโป ’ยํ
สงฺขฺยาตีโต หิ จิตฺ-กณห์
“มีละอองอะตอมทิพย์นับจำนวนไม่ถ้วน วัดขนาดได้เศษหนึ่งส่วนหนึ่งหมื่นของจุดปลายเส้นผม”

ฉะนั้น ปัจเจกวิญญาณทิพย์คือ อะตอมทิพย์ที่เล็กกว่าอะตอมวัตถุ และอะตอมนี้มีจำนวนนับไม่ถ้วน ละอองทิพย์ที่เล็กมากนี้เป็นหลักฐานของร่างวัตถุ และอิทธิพลของละอองทิพย์นี้แผ่กระจายไปทั่วร่าง เสมือนดั่งอิทธิพลของฤทธิ์ยาที่แผ่กระจายไปทั่วร่างกายคลื่นแห่งดวงวิญญาณทิพย์นี้มีความรู้สึกไปทั่วร่างกายด้วยจิตสำนึก นี่คือข้อพิสูจน์ว่าดวงวิญญาณมีอยู่ สามัญชนทั่วไปสามารถเข้าใจว่าร่างวัตถุที่ไร้จิตสำนึกคือร่างที่ตายซาก จิตสำนึกนี้ไม่สามารถเรียกกลับคืนเข้ามาสู่ร่างกายได้ด้วยวิธีจัดการทางวัตถุ ฉะนั้นจิตสำนึกมิได้มีผลมาจากจำนวนการรวมตัวของวัตถุแต่มีผลมาจากดวงวิญญาณ ใน มุณฺฑก อุปนิษทฺ (3.1.9) ขนาดของละอองวิญญาณได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ดังนี้

เอโษ ’ณุรฺ อาตฺมา เจตสา เวทิตโวฺย
ยสฺมินฺ ปฺราณห์ ปญฺจธา สํวิเวศ
ปฺราไณศฺ จิตฺตํ สรฺวมฺ โอตํ ปฺรชานำ
ยสฺมินฺ วิศุทฺเธ วิภวตฺยฺ เอษ อาตฺมา
“ดวงวิญญาณมีขนาดคล้ายอะตอม สามารถสำเหนียกได้ด้วยปัญญาที่สมบูรณ์ ดวงวิญญาณอะตอมนี้ลอยอยู่ในอากาศห้าชนิด (ปฺราณ อปาน วฺยาน สมาน และ อุทาน) สถิตอยู่ในหัวใจ และมีอิทธิพลแผ่กระจายไปทั่วร่างกายของสิ่งมีชีวิต เมื่อดวงวิญญาณบริสุทธิ์จากมลทินของลมวัตถุห้าชนิด อิทธิพลทิพย์ในตัวเองจะปรากฏออกมา”

ระบบ หฐ-โยค มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมลมห้าชนิดที่หมุนเวียนอยู่รอบดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ด้วยท่านั่งต่างๆ มิใช่เพื่อผลประโยชน์ทางวัตถุแต่เพื่อความหลุดพ้นของดวงวิญญาณจากพันธนาการแห่งบรรยากาศวัตถุ

ดังนั้น วรรณกรรมพระเวททั้งหมดได้ยอมรับองค์ประกอบแห่งดวงวิญญาณ คนปกติทั่วไปมีความรู้สึกจริงเช่นนี้เหมือนกันจากประสบการณ์มีแต่คนวิกลจริตเท่านั้นที่คิดว่าละอองดวงวิญญาณนี้คือ วิษฺณุ-ตตฺตฺว ที่แผ่กระจายไปทั่ว

อิทธิพลของดวงวิญญาณนั้นสามารถที่จะแผ่กระจายไปทั่วเป็นเฉพาะร่างๆไป ตาม มุณฺฑก อุปนิษทฺ ดวงวิญญาณนี้จะสถิตในหัวใจของทุกๆชีวิต และดวงวิญญาณอยู่เหนืออำนาจของนักวิทยาศาสตร์ทางวัตถุที่จะรู้ถึงคุณค่า นักวิทยาศาสตร์บางท่านยืนยันอย่างเบาปัญญาว่าไม่มีดวงวิญญาณ ปัจเจกวิญญาณอยู่ในหัวใจคู่กับ ปรมาตฺมา อย่างแน่นอน ฉะนั้นพลังงานการเคลื่อนไหวทั้งหมดกำเนิดจากส่วนนี้ของร่างกาย เม็ดโลหิตที่นำออกซิเจนจากปอดรวบรวมพลังงานจากดวงวิญญาณ เมื่อดวงวิญญาณออกจากตำแหน่งนี้กิจกรรมการรวมตัวเพื่อผลิตโลหิตก็หยุดลง นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ยอมรับความสำคัญของเม็ดโลหิตแดง แต่ไม่สามารถยืนยันแหล่งกำเนิดของพลังงานนั้นว่าคือดวงวิญญาณ อย่างไรก็ดี วิทยาศาสตร์การแพทย์ยอมรับว่าหัวใจคือฐานแห่งพลังงานทั้งหมดของร่างกาย

ละอองวิญญาณเหล่านี้เปรียบเทียบได้กับโมเลกุลของแสงอาทิตย์ ภายในแสงอาทิตย์มีโมเลกุลที่เจิดจรัสนับจำนวนไม่ถ้วน เช่นเดียวกันกับปัจเจกวิญญาณหรือเศษย่อยๆขององค์ภควานฺ เป็นละอองอะตอมแห่งรัศมีขององค์ภควานฺ เรียกว่า ปฺรภา หรือพลังงานเบื้องสูง ดังนั้นไม่ว่าเราจะเชื่อความรู้พระเวทหรือเชื่อวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน เราก็ไม่สามารถปฏิเสธความมีอยู่จริงของดวงวิญญาณในร่างกาย และศาสตร์แห่งดวงวิญญาณนี้ องค์ภควานฺทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนใน ภควัท-คีตา