ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 28

avyaktādīni bhūtāni
vyakta-madhyāni bhārata
avyakta-nidhanāny eva
tatra kā paridevanā
อวฺยกฺตาทีนิ ภูตานิ
วฺยกฺต-มธฺยานิ ภารต
อวฺยกฺต-นิธนานฺยฺ เอว
ตตฺร กา ปริเทวนา
อวฺยกฺต-อาทีนิ — ในตอนต้นไม่ปรากฏ, ภูตานิ — ทั้งหมดที่ได้สร้างขึ้นมา, วฺยกฺต — ปรากฏ, มธฺยานิ — ในตอนกลาง, ภารต — โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ ภรต, อวฺยกฺต — ไม่ปรากฏ, นิธนานิ — เมื่อสูญสลาย, เอว — ทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้, ตตฺร — ดังนั้น, กา — อะไร, ปริเทวนา — ความเศร้าโศก

คำแปล

สิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ปรากฏในช่วงต้น ปรากฏในช่วงกลาง และไม่ปรากฏอีกครั้งเมื่อถูกทำลายลง ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องเศร้าโศกเสียใจ

คำอธิบาย

เป็นที่ยอมรับว่ามีนักปราชญ์อยู่สองประเภท ประเภทหนึ่งเชื่อในความมีอยู่จริงของดวงวิญญาณ และอีกประเภทหนึ่งไม่เชื่อในความมีอยู่จริงของดวงวิญญาณ ไม่ว่าจะมีความเชื่อในประเภทใดก็ไม่มีเหตุผลให้ต้องเศร้าโศกเสียใจแต่อย่างใด ผู้ปฏิบัติตามปรัชญาพระเวทจะเรียกบุคคลที่ไม่เชื่อในความมีอยู่จริงของดวงวิญญาณเหล่านี้ว่าเป็นผู้ไม่เชื่อในองค์ภควานฺ แต่เพื่อเป็นหลักในการพิจารณาเราจะยอมรับทฤษฎีของผู้ที่ไม่เชื่อในองค์ภควานฺ แม้กระนั้นก็ยังไม่มีเหตุผลต้องเศร้าโศก ถ้าเราแยกความมีอยู่ของดวงวิญญาณออกต่างหากจะเห็นว่าธาตุวัตถุต่างๆมิได้ปรากฏก่อนการสร้าง จากระยะที่ละเอียดอ่อนแห่งการไม่ปรากฏมาจนถึงการปรากฏออกมา ดังเช่นจากอากาศธาตุ ลมปรากฏออกมา, จากลม ไฟปรากฏออกมา, จากไฟ น้ำปรากฏออกมา, จากน้ำ ดินปรากฏออกมา และจากดิน สิ่งต่างๆมากมายหลากหลายปรากฏออกมา ตัวอย่างเช่น ตึกสูงระฟ้าปรากฏขึ้นมาจากดินเมื่อถูกรื้อถอนทำลายลง การปรากฏกลายเป็นการไม่ปรากฏอีกครั้ง และในขั้นสุดท้ายยังคงเป็นอะตอมอยู่ กฎแห่งการอนุรักษ์พลังงานยังคงอยู่ ข้อแตกต่างคือตามกาลเวลาสิ่งต่างๆจะปรากฏและไม่ปรากฏ แล้วอะไรเป็นเหตุแห่งความเศร้าโศก ไม่ว่าจะปรากฏหรือไม่ปรากฏออกมา อย่างไรก็ดีแม้อยู่ในสภาวะที่ไม่ปรากฏก็ไม่มีอะไรสูญเสียทั้งในตอนต้นและตอนปลาย ธาตุต่างๆทั้งหมดก็ไม่ปรากฏออกมา และในช่วงกลางเท่านั้นที่จะปรากฏออกมา ซึ่งมิได้ทำให้มีข้อแตกต่างกันเลย

หากว่าเรายอมรับข้อสรุปของพระเวท ดังที่ได้กล่าวไว้ใน ภควัท-คีตา ว่าร่างกายวัตถุเหล่านี้เสื่อมสลายตามกาลเวลา (อนฺตวนฺต อิเม เทหาห์) แต่ว่าดวงวิญญาณเป็นอมตะ (นิตฺยโสฺยกฺตาห์ ศรีริณห์) ฉะนั้นเราต้องจดจำไว้เสมอว่าร่างกายนี้เปรียบเสมือนเสื้อผ้า แล้วจะไปโศกเศร้ากับการเปลี่ยนเสื้อผ้าทำไม ร่างกายวัตถุนั้นไม่ได้มีอยู่จริงในความสัมพันธ์กับดวงวิญญาณอมตะ มันคล้ายกับความฝันในฝันอาจคิดว่าเราบินอยู่บนท้องฟ้าหรือนั่งอยู่บนราชรถเยี่ยง กฺษตฺริย แต่เมื่อตื่นขึ้นมาจะพบว่าเราไม่ได้อยู่ทั้งในท้องฟ้าหรือบนราชรถ ปรัชญาพระเวทส่งเสริมความรู้แจ้งแห่งตนบนพื้นฐานที่ว่าร่างกายวัตถุไม่มีอยู่จริง ดังนั้นไม่ว่าในกรณีใด ไม่ว่าเราจะเชื่อในความมีอยู่จริงของดวงวิญญาณ หรือเราจะไม่เชื่อในความมีอยู่ของดวงวิญญาณก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเศร้าโศกเสียใจในการสูญเสียร่างกาย