ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 32

yadṛcchayā copapannaṁ
svarga-dvāram apāvṛtam
sukhinaḥ kṣatriyāḥ pārtha
labhante yuddham īdṛśam
ยทฺฤจฺฉยา โจปปนฺนํ
สฺวรฺค-ทฺวารมฺ อปาวฺฤตมฺ
สุขินห์ กฺษตฺริยาห์ ปารฺถ
ลภนฺเต ยุทฺธมฺ อีทฺฤศมฺ
ยทฺฤจฺฉยา — สอดคล้องอยู่ในตัว, — เช่นกัน, อุปปนฺนมฺ — มาถึง, สฺวรฺค — แห่งโลก สวรรค์, ทฺวารมฺ — ประตู, อปาวฺฤตมฺ — เปิดกว้าง, สุขินห์ — มีความสุขมาก, กฺษตฺริยาห์ — สมาชิกของราชวงศ์, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, ลภนฺเต — ได้รับ, ยุทฺธมฺ — สงคราม, อีทฺฤศมฺ — เหมือนเช่นนี้

คำแปล

โอ้ ปารฺถ กฺษตฺริย ผู้มีความสุขคือ ผู้ที่โอกาสการต่อสู้เช่นนี้ เอื้ออำนวยโดยไม่ต้องเสาะแสวงหา ซึ่งเป็นการเปิดประตูสวรรค์ให้

คำอธิบาย

ในฐานะที่เป็นบรมครูแห่งโลก องค์ศฺรีกฺฤษฺณทรงตำหนิกริยาท่าทีของ อรฺชุน ที่ตรัสว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นว่ามีอะไรดีในการสู้รบกันครั้งนี้ซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าไปอยู่ในขุมนรกชั่วนิรันดร” คำดำรัสเช่นนี้ของ อรฺชุน เนื่องมาจากอวิชชาเท่านั้น โดยปรารถนามาเป็นผู้ยึดหลักอหิงสาในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะของตน กฺษตฺริย ผู้ทรงอยู่ในสนามรบแล้วมาทำเป็นผู้ยึดหลักอหิงสาเป็นปรัชญาของคนโง่เขลา ใน ปราศร-สฺมฺฤติ หลักศาสนาที่ ปราศร นักปราชญ์ผู้เป็นพระบิดาของ วฺยาสเทว กล่าวไว้ว่า

กฺษตฺริโย หิ ปฺรชา รกฺษนฺ
ศสฺตฺร-ปาณิห์ ปฺรทณฺฑยนฺ
นิรฺชิตฺย ปร-ไสนฺยาทิ
กฺษิตึ ธรฺเมณ ปาลเยตฺ
“หน้าที่ของ กฺษตฺริย คือการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากความทุกข์ยากลำบากทั้งปวง ด้วยเหตุผลนี้จึงจำต้องใช้ความรุนแรงในกรณีที่เหมาะสมเพื่อความสงบเรียบร้อย ฉะนั้นพระองค์ทรงต้องกำราบศัตรูและปกครองโลกตามหลักศาสนา”

เมื่อพิจารณาทุกมุมมอง อรฺชุน ทรงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ต่อสู้ หากทรงปราบศัตรูได้จะมีความสุขกับราชบัลลังก์ และหากสิ้นพระชนม์ในสนามรบจะเสด็จไปสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งประตูสวรรค์เปิดรอรับอยู่แล้ว การต่อสู้จึงเป็นผลดีสำหรับ อรฺชุน ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม