ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 47

karmaṇy evādhikāras te
mā phaleṣu kadācana
mā karma-phala-hetur bhūr
mā te saṅgo ’stv akarmaṇi
กรฺมณฺยฺ เอวาธิการสฺ เต
มา ผเลษุ กทาจน
มา กรฺม-ผล-เหตุรฺ ภูรฺ
มา เต สงฺโค ’สฺตฺวฺ อกรฺมณิ
กรฺมณิ — ในหน้าที่ที่กำหนดไว้, เอว — แน่นอน, อธิการห์ — ถูกต้อง, เต — ของเธอ, มา — ไม่เคย, ผเลษุ — ในผล, กทาจน — ทุกเวลา, มา — ไม่เคย, กรฺม-ผล — ในผลของงาน, เหตุห์ — เหตุ, ภูห์ — มาเป็น, มา — ไม่เคย, เต — ของเธอ, สงฺคห์ — ความยึดติด, อสฺตุ — ควรมี, อกรฺมณิ — ในการไม่ทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้

คำแปล

เธอมีสิทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ดังที่กำหนดไว้ แต่ไม่มีสิทธิ์ได้รับผลของการกระทำ จงอย่าพิจารณาว่าตัวเองเป็นแหล่งกำเนิดของผลงานที่ทำ และอย่ายึดติดกับการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของเธอ

คำอธิบาย

ที่นี้ พิจารณาได้สามประเด็นคือ หน้าที่ที่กำหนดไว้ การทำงานตามอำเภอใจ และการอยู่เฉยๆ หน้าที่ที่กำหนดไว้คือคำสั่งที่ได้รับให้ทำกิจกรรมตามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุที่ตนได้มา งานตามอำเภอใจหมายถึงงานที่ทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ที่เชื่อถือได้ และการอยู่เฉยๆคือไม่ทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ องค์ภควานฺทรงมิได้แนะนำให้ อรฺชุน ทรงอยู่เฉยๆแต่ให้ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนที่ได้กำหนดไว้โดยไม่ยึดติดกับผลงาน ผู้ที่ยึดติดกับผลของงานก็เป็นต้นเหตุแห่งการทำงานเช่นกัน ดังนั้นเขาจะได้รับความสุขหรือความทุกข์จากผลกรรม

หน้าที่ที่กำหนดไว้แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ งานประจำ งานฉุกเฉิน และงานที่ปรารถนา งานประจำคือการปฏิบัติตามข้อบังคับตามคำสั่งของพระคัมภีร์โดยไม่หวังผลเป็นการกระทำในระดับแห่งความดี การทำงานเพื่อหวังผลจะเป็นเหตุแห่งพันธนาการ ดังนั้นงานประเภทนี้ไม่เป็นสิริมงคล ทุกคนมีสิทธิ์พื้นฐานเกี่ยวกับหน้าที่ที่กำหนดไว้ แต่ควรทำโดยไม่ยึดติดกับผล หน้าที่ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นนี้จะนำเราไปสู่หนทางแห่งอิสรภาพโดยไม่ต้องสงสัย

ฉะนั้นองค์ภควานฺทรงแนะนำ อรฺชุน ให้ต่อสู้ในฐานะที่เป็นหน้าที่โดยไม่ยึดติดกับผล การอยู่เฉยๆของ อรฺชุน ในสนามรบเป็นการยึดติด อีกด้านหนึ่งการยึดติดเช่นนี้จะไม่นำเราไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น การยึดติดใดๆไม่ว่าจะในเชิงบวกหรือเชิงลบนั้นเป็นเหตุแห่งพันธนาการและการอยู่เฉยๆเป็นบาป ฉะนั้นการต่อสู้ตามหน้าที่จึงเป็นวิถีทางเดียวที่เป็นสิริมงคลเพื่อความหลุดพ้นของ อรฺชุน