ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 69

yā niśā sarva-bhūtānāṁ
tasyāṁ jāgarti saṁyamī
yasyāṁ jāgrati bhūtāni
sā niśā paśyato muneḥ
ยา นิศา สรฺว-ภูตานำ
ตสฺยำ ชาครฺติ สํยมี
ยสฺยำ ชาคฺรติ ภูตานิ
สา นิศา ปศฺยโต มุเนห์
ยา — อะไร, นิศา — เป็นเวลากลางคืน, สรฺว — ทั้งหมด, ภูตานามฺ — ของสิ่งมีชีวิต, ตสฺยามฺ — ในนั้น, ชาครฺติ — จะตื่น, สํยมี — การควบคุมตนเอง, ยสฺยามฺ — ในที่ซึ่ง, ชาคฺรติ — ตื่นอยู่, ภูตานิ — สิ่งมีชีวิตทั้งหมด, สา — นั้นเป็น, นิศา — กลางคืน, ปศฺยตห์ — สำหรับผู้ใคร่ครวญ, มุเนห์ — นักปราชญ์

คำแปล

เวลากลางคืนของมวลชีวิต จะเป็นเวลาตื่นของผู้ควบคุมตนเองได้ และเวลาตื่นของมวลชีวิต จะเป็นเวลากลางคืนของนักปราชญ์ผู้พิจารณาใคร่ครวญตนเอง

คำอธิบาย

มีผู้มีปัญญาอยู่สองประเภท ประเภทที่หนึ่งมีปัญญาในกิจกรรมทางวัตถุเพื่อสนองประสาทสัมผัส และอีกประเภทหนึ่งเป็นผู้พิจารณาใคร่ครวญตนเองและเป็นผู้ตื่นในการฝึกฝนเพื่อความรู้แจ้งแห่งตน เวลาปฏิบัติธรรมของนักปราชญ์ผู้พิจารณาใคร่ครวญตนเองหรือผู้มีความสุขุมรอบคอบจะเป็นเวลากลางคืนของผู้ที่ซึมซาบอยู่ในวัตถุ นักวัตถุนิยมจะคงนอนในเวลากลางคืนเช่นนี้เนื่องมาจากอวิชชาในความรู้แจ้งแห่งตน นักปราชญ์ผู้พิจารณาใคร่ครวญตนเองจะตื่น “ในเวลากลางคืน” ของนักวัตถุนิยม นักปราชญ์มีความรู้สึกปลื้มปีติสุขทิพย์ในการพัฒนาวัฒนธรรมแห่งดวงวิญญาณทีละน้อย ขณะที่นักวัตถุนิยมนอนหลับต่อความรู้แจ้งแห่งตนจะฝันถึงความสุขทางประสาทสัมผัสต่างๆนานา มีความรู้สึกสุขบ้างและทุกข์บ้างในขณะที่หลับอยู่ ผู้ที่พิจารณาใคร่ครวญตนเองจะไม่ใยดีกับความสุขหรือความทุกข์ทางวัตถุ ท่านมุ่งหน้าต่อไปกับกิจกรรมเพื่อความรู้แจ้งแห่งตน โดยไม่หวั่นไหวต่อผลกรรมทางวัตถุ