ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สอง

บทสรุป ภควัท-คีตา

โศลก 71

vihāya kāmān yaḥ sarvān
pumāṁś carati niḥspṛhaḥ
nirmamo nirahaṅkāraḥ
sa śāntim adhigacchati
วิหาย กามานฺ ยห์ สรฺวานฺ
ปุมำศฺ จรติ นิห์สฺปฺฤหห์
นิรฺมโม นิรหงฺการห์
ส ศานฺติมฺ อธิคจฺฉติ
วิหาย — ยกเลิก, กามานฺ — ความต้องการทางวัตถุเพื่อสนองประสาทสัมผัส, ยห์ — ผู้ซึ่ง, สรฺวานฺ — ทั้งหมด, ปุมานฺ — บุคคล, จรติ — มีชีวิต, นิห์สฺปฺฤหห์ — ไม่มีความต้องการ, นิรฺมมห์ — ไม่มีความคิดว่าเป็นเจ้าของ, นิรหงฺการห์ — ไม่มีอหังการ, สห์ — เขา, ศานฺติมฺ — ความสงบที่สมบูรณ์, อธิคจฺฉติ — ได้รับ

คำแปล

บุคคลผู้สลัดความต้องการทั้งหมดในการสนองประสาทสัมผัส มีชีวิตอยู่โดยปราศจากความต้องการ สลัดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ปราศจากอหังการ จะเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถได้รับความสงบอย่างแท้จริง

คำอธิบาย

ไม่มีความต้องการ หมายความว่าไม่ต้องการสิ่งใดเพื่อสนองประสาทสัมผัส อีกนัยหนึ่งการมีกฺฤษฺณจิตสำนึกก็คือการที่ไม่มีความต้องการ การเข้าใจสถานภาพอันแท้จริงของเราว่าเป็นผู้รับใช้นิรันดรขององค์กฺฤษฺณโดยไม่อ้างอย่างผิดๆว่าร่างกายวัตถุนี้เป็นตนเอง และไม่อ้างอย่างผิดๆว่าตนเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลก นี่คือระดับสมบูรณ์ของกฺฤษฺณจิตสำนึก ผู้ที่สถิตในระดับอันสมบูรณ์นี้ทราบว่าองค์กฺฤษฺณทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างจึงต้องนำมาใช้เพื่อให้องค์กฺฤษฺณทรงพอพระทัย อรฺชุน ไม่ต้องการต่อสู้เช่นนี้เป็นการกระทำเพื่อสนองประสาทสัมผัสของตนเอง แต่เมื่อมีกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ อรฺชุน จะต่อสู้เพราะองค์กฺฤษฺณทรงปรารถนาให้สู้ เพื่อสนองความต้องการของตนเอง อรฺชุน ไม่ต้องการสู้ แต่เพื่อองค์กฺฤษฺณ อรฺชุน องค์เดียวกันนี้จะต่อสู้อย่างสุดความสามารถ การไม่มีความต้องการที่แท้จริง คือการต้องการเพียงให้องค์กฺฤษฺณทรงพึงพอพระทัย มิใช่พยายามละทิ้งความต้องการแบบผิดธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้ที่สิ่งมีชีวิตจะไม่มีความต้องการหรือไม่มีความรู้สึก แต่เราต้องเปลี่ยนคุณภาพของความต้องการ บุคคลผู้ไม่มีความต้องการทางวัตถุทราบดีว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นขององค์กฺฤษฺณ (อีศาวาสฺยมฺ อิทํ สรฺวมฺ) ดังนั้นจึงไม่อ้างอย่างผิดๆว่าเป็นเจ้าของสิ่งใด ความรู้ทิพย์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความรู้แจ้งตนเอง เช่น รู้ดีว่าในบุคลิกภาพทิพย์ทุกๆชีวิตเป็นละอองอณูนิรันดรขององค์กฺฤษฺณ ฉะนั้นสถานภาพนิรันดรของสิ่งมีชีวิตจะไม่มีวันอยู่ในระดับเดียวกันกับองค์กฺฤษฺณ หรือจะยิ่งใหญ่ไปกว่าพระองค์ความเข้าใจกฺฤษฺณจิตสำนึก เช่นนี้เป็นหลักพื้นฐานแห่งความสงบอย่างแท้จริง