ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สาม

กรฺม-โยค

โศลก 30

mayi sarvāṇi karmāṇi
sannyasyādhyātma-cetasā
nirāśīr nirmamo bhūtvā
yudhyasva vigata-jvaraḥ
มยิ สรฺวาณิ กรฺมาณิ
สนฺนฺยสฺยาธฺยาตฺม-เจตสา
นิราศีรฺ นิรฺมโม ภูตฺวา
ยุธฺยสฺว วิคต-ชฺวรห์
มยิ — แต่ข้า, สรฺวาณิ — ทุกชนิด, กรฺมาณิ — กิจกรรม, สนฺนฺยสฺย — ยกเลิกทั้งหมด, อธฺยาตฺม — ด้วยความรู้อันสมบูรณ์เกี่ยวกับตนเอง, เจตสา — ด้วยจิตสำนึก, นิราศีห์ — ไม่มีความปรารถนาเพื่อผลกำไร, นิรฺมมห์ — ไม่เป็นเจ้าของ, ภูตฺวา — เป็นดังนี้, ยุธฺยสฺว — ต่อสู้, วิคต-ชฺวรห์ — ไม่เฉื่อยชา

คำแปล

ฉะนั้น โอ้ อรฺชุน จงศิโรราบงานของเธอทั้งหมดแด่ข้า เปี่ยมไปด้วยความรู้แห่งข้า ไม่ปรารถนาผลกำไร ไม่อ้างความเป็นเจ้าของ และปราศจากความเฉื่อยชา เธอจงสู้!

คำอธิบาย

โศลกนี้แสดงถึงจุดมุ่งหมายของ ภควัท-คีตา อย่างชัดเจน องค์ภควานฺทรงสอนว่าเราต้องมีกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่เฉกเช่นการมีวินัยในกองทัพ คำสั่งสอนเช่นนี้อาจทำได้ยาก แต่ถึงอย่างไรหน้าที่จะต้องดำเนินต่อไปโดยขึ้นอยู่กับองค์กฺฤษฺณ เพราะว่านั่นคือสถานภาพพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตไม่สามารถมีความสุขโดยปราศจากการร่วมมือกับองค์ภควานฺ เพราะว่าสถานภาพพื้นฐานนิรันดรของสิ่งมีชีวิตคือ มาเป็นผู้ร่วมงานกับความปรารถนาขององค์ภควานฺ ฉะนั้นองค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงรับสั่งให้ อรฺชุน ต่อสู้เสมือนดั่งองค์กฺฤษฺณทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร เราต้องเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อความปรารถนาดีขององค์ภควานฺ และในขณะเดียวกันปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้โดยไม่อ้างความเป็นเจ้าของ อรฺชุน ทรงไม่ต้องพิจารณาคำสั่งของพระองค์เพียงแต่ทรงต้องปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น องค์ภควานฺทรงเป็นดวงวิญญาณของมวลวิญญาณ ฉะนั้นผู้ที่ขึ้นอยู่กับองค์อภิวิญญาณสูงสุดร้อยเปอร์เซ็นต์โดยปราศจากการพิจารณาส่วนตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้ที่มีกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์เรียกว่า อธฺยาตฺม-เจตสา คำว่า นิราศีห์ หมายความว่าเราต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้านาย แต่ไม่ควรคาดหวังผลประโยชน์ แคชเชียร์อาจนับเงินเป็นจำนวนล้านๆบาทให้นายจ้างแต่จะไม่อ้างแม้แต่สตางค์แดงเดียวสำหรับตนเอง ในลักษณะเดียวกันเราต้องรู้แจ้งว่าไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นของผู้หนึ่งผู้ใด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นขององค์ภควานฺ นั่นคือความหมายอันแท้จริงของคำว่า มยิ หรือ “แด่ข้า” และเมื่อเราปฏิบัติตนในกฺฤษฺณจิตสำนึกเช่นนี้ แน่นอนว่าเราจะไม่อ้างความเป็นเจ้าของในสิ่งใดๆ จิตสำนึกเช่นนี้เรียกว่า นิรฺมม หรือ “ไม่มีอะไรเป็นของข้า” หากเกิดมีความไม่เต็มใจในการปฏิบัติตามคำสั่งอันเข้มงวดเช่นนี้ โดยปราศจากการพิจารณาถึงสิ่งที่สมมุติว่าเป็นวงศาคณาญาติในความสัมพันธ์ทางร่างกาย ความไม่เต็มใจเช่นนี้ควรสลัดทิ้งไป เช่นนี้เราอาจมาเป็น วิคต-ชฺวร หรือปราศจากอารมณ์เร่าร้อนหรืออารมณ์เฉื่อยชา ทุกๆคนตามคุณสมบัติและสถานภาพของตนมีงานโดยเฉพาะให้ปฏิบัติ และงานทั้งหมดนี้อาจปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึก ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งจะนำเราไปสู่หนทางแห่งอิสรภาพ