ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สาม

กรฺม-โยค

โศลก 35

śreyān sva-dharmo viguṇaḥ
para-dharmāt sv-anuṣṭhitāt
sva-dharme nidhanaṁ śreyaḥ
para-dharmo bhayāvahaḥ
เศฺรยานฺ สฺว-ธรฺโม วิคุณห์
ปร-ธรฺมาตฺ สฺวฺ-อนุษฺฐิตาตฺ
สฺว-ธรฺเม นิธนํ เศฺรยห์
ปร-ธรฺโม ภยาวหห์
เศฺรยานฺ — ดีกว่าเป็นไหนๆ, สฺว-ธรฺมห์ — หน้าที่ของตนที่ได้กำหนดไว้, วิคุณห์ — แม้ว่าจะผิดพลาด, ปร-ธรฺมาตฺ — มากกว่าหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้สำหรับผู้อื่น, สุ-อนุษฺฐิตาตฺ — กระทำอย่างสมบูรณ์, สฺว-ธรฺเม — ในหน้าที่ของตนที่กำหนดไว้, นิธนมฺ — การทำลาย, เศฺรยห์ — ดีกว่า, ปร-ธรฺมห์ — หน้าที่ที่ได้กำหนดไว้สำหรับผู้อื่น, ภย-อาวหห์ — อันตราย

คำแปล

การปฏิบัติหน้าที่ของตนที่ได้กำหนดไว้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อบกพร่องยังดีกว่าไปทำหน้าที่ของผู้อื่นอย่างสมบูรณ์เป็นไหนๆ การถูกทำลายขณะปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ยังดีกว่าไปปฏิบัติหน้าที่ของผู้อื่น เพราะการปฏิบัติตามวิถีทางของผู้อื่นนั้นเป็นอันตราย

คำอธิบาย

เราควรปฏิบัติหน้าที่ของเราที่ได้กำหนดไว้ด้วยกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ดีกว่าไปทำงานที่กำหนดไว้สำหรับผู้อื่น ในวิถีวัตถุหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้เป็นหน้าที่ที่ถูกบัญชาตามสภาวะทางจิตวิทยาของแต่ละคนภายใต้มนต์สะกดของระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ ในวิถีทิพย์หน้าที่คือคำสั่งจากพระอาจารย์ทิพย์เพื่อให้เรารับใช้ทิพย์แด่องค์กฺฤษฺณ ไม่ว่าจะเป็นวิถีวัตถุหรือวิถีทิพย์เราควรจะยึดอยู่กับหน้าที่ของเราตามที่ได้กำหนดไว้จนวันตาย ดีกว่าไปเลียนแบบหน้าที่ที่กำหนดไว้สำหรับผู้อื่น หน้าที่ในระดับทิพย์และหน้าที่ในระดับวัตถุอาจแตกต่างกัน แต่หลักการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ที่เชื่อถือได้เป็นสิ่งดีสำหรับผู้ปฏิบัติเสมอ เมื่ออยู่ภายใต้มนต์สะกดของระดับแห่งธรรมชาติวัตถุเราควรปฏิบัติตามกฎที่ได้กำหนดไว้สำหรับสภาวะโดยเฉพาะของเราและไม่ควรเลียนแบบผู้อื่น ตัวอย่างเช่น พฺราหฺมณ อยู่ในระดับความดีไม่เบียดเบียนผู้อื่น ในขณะที่ กฺษตฺริย อยู่ในระดับตัณหาอนุญาตให้เบียดเบียนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ กฺษตฺริย จึงปฏิบัติตามกฎที่เบียดเบียนและกำราบศัตรูได้ ดีกว่าที่จะไปเลียนแบบ พฺราหฺมณ ผู้ยึดหลักอหิงสา ทุกคนต้องชะล้างจิตใจของตนเองทีละน้อยไม่ใช่โดยฉับพลัน อย่างไรก็ดีเมื่อเราข้ามพ้นระดับต่างๆของธรรมชาติวัตถุ และสถิตในกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ เราจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ภายใต้คำแนะนำของพระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้ ในระดับสมบูรณ์ของกฺฤษฺณจิตสำนึกนี้ กฺษตฺริย อาจปฏิบัติตนเป็น พฺราหฺมณ หรือว่า พฺราหฺมณ อาจจะปฏิบัติตนเป็น กฺษตฺริย ในระดับทิพย์แล้วข้อแตกต่างทางโลกวัตถุนำมาใช้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น วิศฺวามิตฺร เดิมทีทรงเป็น กฺษตฺริย แต่ต่อมาปฏิบัติตนเป็น พฺราหฺมณ ในขณะที่ ปรศุราม เดิมเป็น พฺราหฺมณ แต่ต่อมาปฏิบัติตนเป็น กฺษตฺริย เมื่อสถิตในระดับทิพย์ทั้งสองท่านสามารถทำเช่นนี้ได้ แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ในระดับวัตถุเราต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราตามระดับของธรรมชาติวัตถุ ในขณะเดียวกันนั้นเราจะต้องมีสติอย่างสมบูรณ์ในกฺฤษฺณจิตสำนึก