ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สี่

ความรู้ทิพย์

โศลก 12

kāṅkṣantaḥ karmaṇāṁ siddhiṁ
yajanta iha devatāḥ
kṣipraṁ hi mānuṣe loke
siddhir bhavati karma-jā
กางฺกฺษนฺตห์ กรฺมณำ สิทฺธึ
ยชนฺต อิห เทวตาห์
กฺษิปฺรํ หิ มานุเษ โลเก
สิทฺธิรฺ ภวติ กรฺม-ชา
กางฺกฺษนฺตห์ — ปรารถนา, กรฺมณามฺ — กิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุ, สิทฺธิมฺ — ความสมบูรณ์, ยชนฺเต — พวกเขาบูชาด้วยการเสียสละ, อิห — ในโลกวัตถุ, เทวตาห์ — เทวดา, กฺษิปฺรมฺ — โดยเร็ว, หิ — แน่นอน, มานุเษ — ในสังคมมนุษย์, โลเก — ภายในโลกนี้, สิทฺธิห์ — สำเร็จ, ภวติ — มา, กรฺม-ชา — จากงานเพื่อผลทางวัตถุ

คำแปล

มนุษย์ในโลกนี้ปรารถนาความสำเร็จในกิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุ ดังนั้นจึงบูชาเทวดา แน่นอนว่ามนุษย์จะได้รับผลโดยเร็วจากงานทางวัตถุในโลกนี้

คำอธิบาย

มีความคิดที่ผิดอย่างใหญ่หลวงเกี่ยวกับเหล่าเทวดาของโลกวัตถุนี้ มนุษย์ผู้ด้อยปัญญาแม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่แต่ยังคิดว่าเทวดาเหล่านี้คือภาพลักษณ์ต่างๆขององค์ภควานฺ อันที่จริงเทวดามิใช่ภาพลักษณ์ขององค์ภควานฺแต่เป็นส่วนต่างๆของพระองค์องค์ภควานฺทรงเป็นหนึ่งและทรงมีส่วนต่างๆมากมาย คัมภีร์พระเวทกล่าวว่า นิโตฺย นิตฺยานามฺ องค์ภควานฺทรงเป็นหนึ่ง อีศฺวรห์ ปรมห์ กฺฤษฺณห์ องค์ภควานฺทรงเป็นหนึ่งคือองค์กฺฤษฺณ และเทวดาทรงเป็นผู้ได้รับพลังอำนาจให้ไปบริหารโลกวัตถุนี้ เทวดาเหล่านี้คือสิ่งมีชีวิตทั้งหมด (นิตฺยานามฺ) พร้อมด้วยพลังอำนาจทางวัตถุในระดับต่างๆกัน เทวดาไม่สามารถเทียบเท่ากับองค์ภควานฺ พระนารายณ์ พระวิษฺณุ หรือองค์กฺฤษฺณได้ ผู้ใดที่คิดว่าองค์ภควานฺและเทวดาอยู่ในระดับเดียวกันได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในองค์ภควานฺ หรือ ปาษณฺฑี แม้เทวดาผู้ยิ่งใหญ่ เช่น พระพรหม และพระศิวะก็ไม่สามารถเปรียบเทียบกับองค์ภควานฺได้ อันที่จริงเทวดา เช่น พระพรหม และพระศิวะจะบูชาองค์ภควานฺ (ศิว-วิริญฺจิ-นุตมฺ) แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่มนุษย์โง่เขลาเบาปัญญาไปบูชาผู้นำมนุษย์ด้วยกันหลายคนภายใต้ความเข้าใจผิดแห่งลัทธิการเปรียบเทียบรูปร่างลักษณะคน หรือลัทธิการดูรูปพรรณลักษณะของสัตว์ คำว่า อิห เทวตาห์ หมายความว่ามนุษย์ผู้มีอำนาจมากหรือเทวดาของโลกวัตถุนี้ แต่องค์นารายณ์ องค์วิษฺณุ หรือองค์กฺฤษฺณทรงเป็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ทรงมิใช่เป็นของโลกวัตถุนี้ พระองค์ทรงอยู่เหนือการสร้างทางวัตถุ แม้ ศฺรีปาท ศงฺกราจารฺย ผู้นำของพวก มายาวาที ยังยืนยันว่าองค์นารายณ์ หรือองค์กฺฤษฺณทรงอยู่เหนือการสร้างของโลกวัตถุนี้ อย่างไรก็ดีคนโง่ (หฺฤต-ชฺญาน) จะบูชาเทวดาเพราะต้องการผลตอบแทนในทันทีพวกเขาได้รับผลตอบแทน แต่ไม่รู้ว่าผลตอบแทนที่ตนเองได้รับนั้นเป็นสิ่งชั่วคราว และมีไว้สำหรับมนุษย์ผู้ด้อยปัญญา บุคคลผู้มีปัญญาอยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกไม่จำเป็นต้องบูชาเทวดาที่ไม่สำคัญเพื่อผลประโยชน์อันรวดเร็วชั่วคราวบางประการ เทวดาแห่งโลกวัตถุพร้อมทั้งเหล่าสาวกของตนจะถูกทำลายไปพร้อมกับโลกวัตถุนี้ ผลประโยชน์ที่เทวดาให้จะเป็นวัตถุและไม่ถาวร ทั้งโลกวัตถุและผู้อยู่อาศัยทั้งหมด รวมทั้งเทวดาและผู้บูชาเทวดาทั้งหลายเปรียบเสมือนฟองน้ำในมหาสมุทรแห่งจักรวาล อย่างไรก็ดีในโลกสังคมมนุษย์คลั่งใคล้ในสิ่งที่ไม่ถาวร เช่น ความมั่งคั่งทางวัตถุด้วยการเป็นเจ้าของที่ดิน ครอบครัว และส่วนประกอบต่างๆที่อำนวยความสุข เพื่อจะได้รับสิ่งของชั่วคราวเหล่านี้มนุษย์บูชาเทวดา หรือบูชามนุษย์ผู้มีอำนาจในสังคมมนุษย์ด้วยกัน หากใครได้ตำแหน่งในรัฐบาลด้วยการบูชาผู้นำนักการเมืองเขาคิดว่าได้รับผลตอบแทนอย่างใหญ่หลวง ดังนั้นพวกเขาจึงก้มลงกราบพวกผู้นำเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ชั่วคราวและได้รับผลประโยชน์เช่นนั้นจริงๆ บุคคลผู้ด้อยปัญญาเช่นนี้ไม่มีความสนใจกฺฤษฺณจิตสำนึกเพื่อแก้ปัญหาอย่างถาวรกับการที่ต้องลำบากอยู่ในโลกวัตถุ พวกเขาเสาะแสวงหาความสุขทางประสาทสัมผัส และได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเล็กน้อยเพื่อความสุขทางประสาทสัมผัส จึงหลงใหลไปในการบูชาสิ่งมีชีวิตผู้มีอำนาจหรือเทวดา โศลกนี้แสดงให้เห็นว่ามีอยู่น้อยคนนักที่จะสนใจในกฺฤษฺณจิตสำนึก เพราะส่วนใหญ่แล้วจะสนใจอยู่กับความสุขทางวัตถุ ดังนั้นจึงบูชาสิ่งมีชีวิตผู้มีอำนาจ