ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สี่

ความรู้ทิพย์

โศลก 37

yathaidhāṁsi samiddho ’gnir
bhasma-sāt kurute ’rjuna
jñānāgniḥ sarva-karmāṇi
bhasma-sāt kurute tathā
ยไถธำสิ สมิทฺโธ ’คฺนิรฺ
ภสฺม-สาตฺ กุรุเต ’รฺชุน
ชฺญานาคฺนิห์ สรฺว-กรฺมาณิ
ภสฺม-สาตฺ กุรุเต ตถา
ยถา — ดังเช่น, เอธำสิ — ไม้ฟืน, สมิทฺธห์ — เผาไหม้, อคฺนิห์ — ไฟ, ภสฺม-สาตฺ — เถ้าถ่าน, กุรุเต — เปลี่ยน, อรฺชุน — โอ้ อรฺชุน, ชฺญาน-อคฺนิห์ — ไฟแห่งความรู้, สรฺว-กรฺมาณิ — ผลกรรมจากกิจกรรมทางวัตถุทั้งหมด, ภสฺม-สาตฺ — เป็นเถ้าถ่าน, กุรุเต — มันกลับกลาย, ตถา — ในทำนองเดียวกัน

คำแปล

ดังเช่นเปลวไฟเปลี่ยนสภาพไม้ฟืนให้เป็นเถ้าถ่านได้ฉันใด โอ้ อรฺชุน ไฟแห่งความรู้ก็สามารถเผาผลาญผลกรรมทั้งมวลจากกิจกรรมทางวัตถุได้ฉันนั้น

คำอธิบาย

ความรู้อันสมบูรณ์แห่งตัวเราพร้อมทั้งองค์ภควานฺและความสัมพันธ์ของทั้งสองเปรียบเทียบได้กับไฟ ตรงนี้ไฟไม่เพียงเผาผลาญผลกรรมจากกิจกรรมบาปทั้งมวล แต่ยังเผาผลาญผลกรรมจากกิจกรรมบุญทั้งมวล ด้วยการเผาผลาญทั้งหมดให้เป็นเถ้าถ่าน มีผลกรรมอยู่หลายลักษณะ เช่น ผลกรรมที่กำลังก่ออยู่ ผลกรรมที่กำลังบังเกิดผล ผลกรรมที่ได้รับเรียบร้อยแล้ว และผลกรรมก่อนหน้านี้ แต่ความรู้สถานภาพพื้นฐานอันแท้จริงของสิ่งมีชีวิตเผาผลาญทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นจุณ เมื่อเรามีความรู้อันสมบูรณ์ผลกรรมทั้งหมดทั้งตั้งแต่ก่อนหน้านี้และหลังจากนี้จะถูกเผาผลาญจนหมดสิ้น ในคัมภีร์พระเวท (พฺฤหทฺ-อารณฺยก อุปนิษทฺ 4.4.22) กล่าวไว้ว่า อุเภ อุไหไวษ เอเต ตรตฺยฺ อมฺฤตห์ สาธฺวฺ-อสาธูนี “เราได้รับชัยชนะจากผลกรรมทั้งสอง คือ จากผลบุญและผลบาป”