ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สี่

ความรู้ทิพย์

โศลก 42

tasmād ajñāna-sambhūtaṁ
hṛt-sthaṁ jñānāsinātmanaḥ
chittvainaṁ saṁśayaṁ yogam
ātiṣṭhottiṣṭha bhārata
ตสฺมาทฺ อชฺญาน-สมฺภูตํ
หฺฤตฺ-สฺถํ ชฺญานาสินาตฺมนห์
ฉิตฺไตฺวนํ สํศยํ โยคมฺ
อาติษฺโฐตฺติษฺฐ ภารต
ตสฺมาตฺ — ดังนั้น, อชฺญาน-สมฺภูตมฺ — เกิดจากอวิชชา, หฺฤตฺ-สฺถมฺ — สถิตในหัวใจ, ชฺญาน — แห่งความรู้, อสินา — ด้วยอาวุธ, อาตฺมนห์ — ของชีวิต, ฉิตฺตฺวา — ตัดออก, เอนมฺ — นี้, สํศยมฺ — สงสัย, โยคมฺ — ในโยคะ, อาติษฺฐ — สถิต, อุตฺติษฺฐ — ลุกขึ้นมาสู้, ภารต — โอ้ ผู้สืบราชวงศ์ ภารต

คำแปล

ฉะนั้น ความสงสัยที่เกิดขึ้นในหัวใจของเธออันเนื่องมาจากอวิชชาควรถูกตัดออกด้วยอาวุธแห่งความรู้ เตรียมพร้อมด้วยโยคะ จงลุกขึ้นมาและสู้ โอ้ ภารต

คำอธิบาย

ระบบโยคะที่สอนในบทนี้เรียกว่า สนาตน-โยค หรือกิจกรรมอมตะที่สิ่งมีชีวิตปฏิบัติ โยคะนี้แบ่งเป็นการปฏิบัติบูชาได้สองส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่าการถวายบูชาสิ่งของวัตถุของตน และอีกส่วนหนึ่งเรียกว่าความรู้แห่งชีวิตซึ่งเป็นกิจกรรมทิพย์ที่บริสุทธิ์ หากถวายบูชาสิ่งของวัตถุของตนโดยไม่ประสานกับความรู้แจ้งทิพย์การถวายเช่นนี้เป็นวัตถุ แต่ผู้ที่ปฏิบัติการถวายบูชาเช่นนี้ด้วยจุดมุ่งหมายทิพย์หรือในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ทำให้การถวายบูชาสมบูรณ์ เมื่อเราไปถึงกิจกรรมทิพย์จะพบว่าแบ่งเป็นสองส่วนอีกเช่นกัน คือ การเข้าใจตัวเราเอง (หรือเข้าใจสถานภาพพื้นฐานอันแท้จริงของเรา) และเข้าใจสัจธรรมเกี่ยวกับบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ผู้ปฏิบัติตามวิธีของ ภควัท-คีตา ฉบับเดิมสามารถเข้าใจสองส่วนสำคัญแห่งความรู้ทิพย์นี้ สำหรับบุคคลนี้ไม่เป็นการยากที่จะบรรลุถึงความรู้ที่สมบูรณ์แห่งตนว่าเป็นละอองอณูขององค์ภควานฺ ดังนั้นการเข้าใจเช่นนี้จึงเป็นประโยชน์เพราะบุคคลนี้สามารถเข้าใจกิจกรรมทิพย์ของพระองค์ได้อย่างง่ายดาย ในตอนต้นของบทนี้องค์ภควานฺทรงกล่าวถึงกิจกรรมทิพย์ของพระองค์ด้วยตัวพระองค์เอง ผู้ที่ไม่เข้าใจคำสั่งสอนของ คีตา คือผู้ไม่มีความศรัทธาและถือว่าได้ใช้เสรีภาพส่วนน้อยนิดที่พระองค์ทรงประทานให้ไปในทางที่ผิด แม้จะมีคำสอนเหล่านี้เราก็ยังไม่เข้าใจธรรมชาติอันแท้จริงขององค์ภควานฺว่าทรงเป็นบุคลิกภาพที่มีความเป็นอมตะ เต็มไปด้วยความสุขเกษมสำราญ และความรู้ ผู้ไม่รู้เช่นนี้แน่นอนว่าเป็นคนโง่อันดับหนึ่ง ความไม่รู้นี้สามารถลบออกได้ด้วยการค่อยๆยอมรับหลักธรรมของกฺฤษฺณจิตสำนึก กฺฤษฺณจิตสำนึกฟื้นฟูขึ้นมาได้ด้วยวิธีการถวายบูชาต่างๆแด่เทวดา ถวายบูชาแด่ พฺรหฺมนฺ ถวายบูชาในการถือเพศพรหมจรรย์ ถวายบูชาในชีวิตคฤหัสถ์ ถวายบูชาในการควบคุมประสาทสัมผัส ถวายบูชาในการฝึกปฏิบัติโยคะ เข้าฌานสมาธิ ถวายบูชาด้วยการบำเพ็ญเพียร ถวายบูชาด้วยการยอมสละสิ่งของวัตถุ ถวายบูชาด้วยการศึกษาคัมภีร์พระเวท และถวายบูชาด้วยการมีส่วนร่วมในสถาบันสังคมที่เรียกว่า วรฺณาศฺรม-ธรฺม ทั้งหมดนี้เรียกว่าการถวายบูชา และทั้งหมดมีพื้นฐานอยู่ที่การประมาณการปฏิบัติ แต่ภายในกิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ปัจจัยสำคัญคือการรู้แจ้งแห่งตน ผู้แสวงหาจุดมุ่งหมายนี้คือนักศึกษาที่แท้จริงของ ภควัท-คีตา แต่ผู้ที่สงสัยความน่าเชื่อถือได้ขององค์กฺฤษฺณจะถอยหลัง ฉะนั้นจึงแนะนำให้เราศึกษา ภควัท-คีตา หรือพระคัมภีร์เล่มใดก็ได้ภายใต้การแนะนำของพระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้ด้วยการรับใช้และศิโรราบ พระอาจารย์ทิพย์ผู้เชื่อถือได้อยู่ในสายปรัมปราตั้งแต่โบราณกาล ท่านจะไม่บิดเบือนจากคำสั่งสอนขององค์ภควานฺเลยแม้แต่น้อย ดังที่ได้ถูกถ่ายทอดมาเป็นเวลาหลายๆล้านปีมาแล้วแด่สุริยเทพ จากสุริยเทพคำสั่งสอนของ ภควัท-คีตา ได้ถูกส่งลงมายังอาณาจักรโลก ดังนั้นเราควรปฏิบัติตามวิธีของ ภควัท-คีตา ให้เหมือนเดิมดังที่ได้กล่าวไว้ใน คีตา เอง และโปรดจงระวังคนเห็นแก่ตัวที่พยายามคุยโวหาเสียงให้แก่ตนเอง และหันเหผู้อื่นไปจากวิถีทางที่แท้จริง องค์ภควานฺทรงเป็นบุคลิกภาพที่สูงสุดอย่างแน่นอน และกิจกรรมของพระองค์ทรงเป็นทิพย์ ผู้ใดที่เข้าใจเช่นนี้เป็นผู้ที่หลุดพ้นแล้วตั้งแต่เริ่มศึกษา ภควัท-คีตา

ดังนั้นได้จบคำอธิบายโดย ภักดีเวดานตะ บทที่สี่ ของหนังสือ ศฺรีมทฺ ภควัท-คีตา ในหัวข้อเรื่อง ความรู้ทิพย์