ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ ห้า

กรฺม-โยค การปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึก

FULL
โศล 1:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ กฺฤษฺณ เริ่มแรกพระองค์ทรงบอกให้ข้าพเจ้าสละงาน และจากนั้นก็ทรงแนะนำให้ทำงานด้วยการอุทิศตนเสียสละ ขอให้พระองค์ทรงโปรดกรุณาตรัสอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองสิ่งนี้สิ่งไหนจะมีประโยชน์มากกว่ากัน
โศล 2:องค์ภควานฺตรัสตอบว่า การสละงานและการทำงานด้วยการอุทิศตนเสียสละทั้งคู่ดีเพื่อความหลุดพ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบสองสิ่งนี้การทำงานอุทิศตนเสียสละรับใช้ดีกว่าการสละงาน
โศล 3:ผู้ที่ไม่รังเกียจกิจกรรม และไม่ปรารถนาผลตอบแทนจากกิจกรรมของตนเอง ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละอยู่เสมอ บุคคลเช่นนี้เป็นอิสระจากมวลสิ่งคู่ ข้ามพ้นจากพันธนาการทางวัตถุได้โดยง่ายดาย และได้รับความหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์ โอ้ อรฺชุน ยอดนักรบ
โศล 4:คนโง่เท่านั้นที่พูดว่าการอุทิศตนเสียสละรับใช้ (กรฺม - โยค) แตกต่างจากการศึกษาวิเคราะห์โลกวัตถุ (สางฺขฺย) พวกบัณฑิตที่แท้จริงกล่าวว่าผู้ใดปฏิบัติตนดีหนึ่งในสองวิถีทางนี้จะบรรลุผลได้ทั้งสองทาง
โศล 5:ผู้ที่รู้ว่าสภาวะที่ไปถึงด้วยวิธีการศึกษาวิเคราะห์สามารถบรรลุถึงได้ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้เช่นกัน ดังนั้นจึงเห็นว่าการศึกษาวิเคราะห์และการอุทิศตนเสียสละรับใช้อยู่ในระดับเดียวกัน ผู้นี้ได้เห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง
โศล 6:หากเพียงแต่สละกิจกรรมทั้งหมดโดยไม่ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้แด่องค์ภควานฺจะไม่สามารถทำให้เรามีความสุข แต่ผู้ที่ใคร่ครวญรอบคอบปฏิบัติในการอุทิศตนเสียสละรับใช้จะสามารถบรรลุถึงองค์ภควานได้โดยไม่ล่าช้า
โศล 7:ผู้ที่ทำงานด้วยการอุทิศตนเสียสละ มีดวงวิญญาณบริสุทธิ์สามารถควบคุมจิตใจ และประสาทสัมผัสของตนเองได้จะเป็นที่รักของทุกคน และทุกคนก็เป็นที่รักของเขา แม้ทำงานอยู่ตลอดเวลาแต่บุคคลเช่นนี้จะไม่มีวันถูกพันธนาการ
โศล 8-9:บุคคลผู้อยู่ในจิตสำนึกทิพย์ แม้ปฏิบัติอยู่ในการเห็น ได้ยิน สัมผัส ดมกลิ่น รับประทาน เคลื่อนไหวไปมา นอน และหายใจ ทราบดีอยู่ภายในตัวเสมอว่าอันที่จริงตนเองไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะว่าขณะที่กำลังพูด กำลังถ่าย กำลังรับ หรือกำลังเปิด-ปิดตา เขาทราบเสมอว่าประสาทสัมผัสวัตถุเท่านั้นที่ปฏิบัติอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และตัวเขาเองอยู่ห่างจากสิ่งเหล่านี้
โศล 10:ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยปราศจากการยึดติด ศิโรราบผลของงานแด่องค์ภควานจะไม่ได้รับผลกระทบจากการทำบาปฉันใด เปรียบเสมือนกับใบบัวที่น้ำไม่สามารถซึมเข้าไปได้ฉันนั้น
โศล 11:โยคีผู้สละความยึดติด ปฏิบัติด้วยร่างกาย จิตใจ ปัญญา และแม้แต่ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเพื่อจุดมุ่งหมายแห่งความบริสุทธิ์เท่านั้น
โศล 12:ดวงวิญญาณผู้อุทิศตนเสียสละอยู่เสมอได้รับความสงบที่บริสุทธิ์เพราะถวายผลของกิจกรรมทั้งหมดแด่ข้า ขณะที่ผู้ไม่ร่วมกับองค์ภควานฺโลภในผลแห่งแรงงานของตนเองจะถูกพันธนาการ
โศล 13:เมื่อดวงชีวิตในร่างควบคุมธรรมชาติของตนเองได้ และด้วยจิตใจที่สละการกระทำทั้งหมด เขาเป็นผู้พำนักอยู่ในเมืองที่มีเก้าประตู (ร่างวัตถุ) อย่างมีความสุข ไม่ได้ทำงานหรือเป็นต้นเหตุให้งานสำเร็จ
โศล 14:วิญญาณในร่างเป็นเจ้าเมืองแห่งร่างกายของเขา มิได้เป็นผู้สร้างกิจกรรม หรือว่าชักนำให้ผู้คนกระทำ หรือว่าตัวเขาเป็นผู้สร้างผลของการกระทำ ทั้งหมดนี้บัญญัติโดยระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ
โศล 15:องค์ภควานทรงมิได้ถืออภิสิทธิ์เอากิจกรรมบาปหรือบุญของผู้ใด อย่างไรก็ดีดวงวิญญาณในร่างสับสนเนื่องมาจากอวิชชาที่ปกคลุมความรู้อันแท้จริงของพวกเขา
โศล 16:อย่างไรก็ดี เมื่อเขาได้รับแสงสว่างจากความรู้ซึ่งอวิชชาถูกทำลายลง ความรู้จะเปิดเผยทุกสิ่งทุกอย่าง เสมือนดังดวงอาทิตย์ที่บันดาลให้ทุกสิ่งทุกอย่างสว่างไสวขึ้นในเวลากลางวัน
โศล 17:เมื่อปัญญา จิตใจ ศรัทธา และที่พึ่งของเขาทั้งหมดตั้งมั่นอยู่ในองค์ภควาน จากนั้นความสงสัยได้ถูกชะล้างไปจนหมดสิ้นด้วยความรู้ที่สมบูรณ์ เขาก็จะมุ่งหน้าไปสู่หนทางแห่งความหลุดพ้น
โศล 18:ด้วยผลจากความรู้ที่แท้จริง นักปราชญ์ผู้ถ่อมตนมองเห็นพราหมณ์สุภาพผู้คงแก่เรียน วัว ช้าง สุนัข หรือคนกินสุนัข (คนชั้นต่ำ) ด้วยสายตาที่เสมอภาค
โศล 19:พวกที่จิตใจสถิตในความมั่นคงและสงบเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะจากสภาวะแห่งการเกิดและการตายแล้ว พวกนี้ไม่มีมลทินเหมือน พฺรหฺมนฺ ฉะนั้น เท่ากับเขาได้สถิตใน พฺรหฺมนฺ เรียบร้อยแล้ว
โศล 20:บุคคลผู้ไม่ร่าเริงเมื่อได้รับสิ่งที่พึงพอใจ ไม่เสียใจเมื่อได้รับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ เป็นผู้มีปัญญาอยู่ในตัว ไม่สับสน และรู้ศาสตร์แห่งองค์ภควานฺถือว่าเป็นผู้สถิตในความเป็นทิพย์เรียบร้อยแล้ว
โศล 21:ผู้ที่หลุดพ้นเช่นนี้ไม่หลงใหลอยู่กับความสุขทางประสาทสัมผัสวัตถุ แต่จะอยู่ในสมาธิเสมอ เพลิดเพลินกับความสุขภายใน ด้วยเหตุนี้บุคคลผู้รู้แจ้งแห่งตนจะเพลิดเพลินอยู่กับความสุขอันหาที่สุดมิได้ เพราะเขาทำสมาธิอยู่ที่องค์ภควาน
โศล 22:บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ไปมีส่วนร่วมกับต้นเหตุแห่งความทุกข์อันเนื่องมาจากการไปสัมผัสกับประสาทสัมผัสวัตถุ โอ้ โอรสพระนาง กุนฺตี ความสุขเช่นนี้มีจุดเริ่มต้นและมีจุดจบ ฉะนั้นคนฉลาดจะไม่ชื่นชมยินดีกับมัน
โศล 23:ก่อนออกจากร่างปัจจุบันนี้หากผู้ใดสามารถอดทนต่อแรงกระตุ้นของประสาทสัมผัสวัตถุ พร้อมทั้งตรวจสอบอำนาจแห่งความต้องการและความโกรธได้ ผู้นั้นสถิตอย่างดีและมีความสุขอยู่ในโลกนี้
โศล 24:พวกที่มีความสุขอยู่ภายใน มีความตื่นตัวและร่าเริงอยู่ภายใน และเป็นผู้ที่มีเป้าหมายอยู่ภายในเป็นโยคีที่สมบูรณ์โดยแท้จริง เขาหลุดพ้นอยู่ในองค์ภควาน และในที่สุดจะบรรลุถึงพระองค์
โศล 25:บุคคลผู้ที่อยู่เหนือสิ่งคู่ซึ่งเกิดจากความสงสัย จิตใจปฏิบัติอยู่ภายใน มีภารกิจมากเสมอเพื่อบำรุงสุขต่อมวลชีวิต และเป็นอิสระจากความบาปทั้งปวงจะเป็นผู้บรรลุถึงความหลุดพ้นอยู่ในองค์ภควานฺ
โศล 26:ผู้ที่ปราศจากความโกรธและความต้องการทางวัตถุทั้งหมดเป็นผู้รู้แจ้งแห่งตนมีวินัยในตนเอง และพยายามเพื่อความสมบูรณ์อยู่เสมอ จะหลุดพ้นสู่องค์ภควานภายในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน
โศล 27-28:ปิดกั้นอายตนะภายนอกทั้งหมด กำหนดดวงตาและสายตา ทำสมาธิระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง หยุดลมหายใจเข้าออกภายในจมูก และควบคุมจิตใจ ประสาทสัมผัส และปัญญา นักทิพย์นิยมตั้งเป้าหมายอยู่ที่ความหลุดพ้น เป็นอิสระจากความต้องการ ความกลัว และความโกรธ ผู้ที่อยู่ในระดับนี้เสมอหลุดพ้นแน่นอน
โศล 29:ผู้ที่มีจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ในข้า รู้ว่าในที่สุดข้าคือผู้ได้รับประโยชน์แห่งการบูชาและความสมถะทั้งหมด ข้าคือองค์ภควานสูงสุดของโลกและเทวดาทั้งปวง ข้าคือผู้อุปการะและผู้ปรารถนาดีของมวลชีวิต เขาผู้นี้จะได้รับความสงบจากความเจ็บปวดแห่งความทุกข์ทางวัตถุ