ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ หก

ธฺยาน-โยค

FULL
โศล 1:องค์ภควานฺตรัสว่า ผู้ที่ไม่ยึดติดต่อผลงานของตน และทำงานไปตามหน้าที่เป็นผู้ที่อยู่ในระดับชีวิตสละโลก และเป็นโยคีที่แท้จริงมิใช่ผู้ที่ไม่ก่อไฟและไม่ปฏิบัติหน้าที่
โศล 2:เธอควรรู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าการเสียสละเป็นสิ่งเดียวกับโยคะ หรือการเชื่อมสัมพันธ์ตนเองกับองค์ภควานฺ โอ้ โอรสแห่ง ปาณฺฑุ ไม่มีผู้ใดสามารถเป็นโยคีได้นอกจากว่าเขาผู้นั้นจะสละความต้องการเพื่อสนองประสาทสัมผัส
โศล 3:สำหรับผู้เริ่มต้นในระบบโยคะแปดระดับกล่าวไว้ว่า การทำงานคือวิถีทาง และสำหรับผู้ที่พัฒนาในโยคะแล้วกล่าวไว้ว่า การหยุดกิจกรรมทางวัตถุทั้งหมดคือวิถีทาง
โศล 4:กล่าวได้ว่าบุคคลผู้นี้เจริญในโยคะแล้วหากเขาได้สละความต้องการทางวัตถุทั้งปวง และไม่ปฏิบัติตนเพื่อสนองประสาทสัมผัส หรือได้ปฏิบัติในกิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุ
โศล 5:เราต้องจัดส่งตนเองด้วยความช่วยเหลือจากจิตใจของตัวเอง มิใช่ทำตัวให้ตกต่ำลง จิตใจเป็นได้ทั้งเพื่อนและศัตรูของพันธวิญญาณ
โศล 6:สำหรับผู้ที่เอาชนะจิตใจตนเองได้นั้นจิตใจถือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเอาชนะจิตใจของตนเองได้ จิตใจของเขายังคงเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด
โศล 7:สำหรับผู้ที่เอาชนะจิตใจตนเองได้นั้น ได้บรรลุถึงองค์อภิวิญญาณเรียบร้อยแล้ว และได้รับความสงบ สำหรับบุคคลเช่นนี้นั้นความสุขและความทุกข์ ความร้อนและความเย็น การได้เกียรติและการเสียเกียรติ ทั้งหมดมีค่าเท่ากัน
โศล 8:ผู้ที่สถิตในความรู้แจ้งแห่งตนเรียกว่า โยคี (หรือผู้มีอิทฤทธิ์) เมื่อเขามีความพึงพอใจอย่างเต็มเปี่ยมในบุญบารมีแห่งความรู้และความรู้แจ้งที่ได้รับ บุคคลเช่นนี้สถิตในระดับทิพย์เป็นผู้ควบคุมตนเองได้ เขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นก้อนกรวด ก้อนหิน หรือทองคำมีค่าเท่ากัน
โศล 9:พิจารณาได้ว่าบุคคลเจริญสูงขึ้นไปอีก เมื่อเขาเห็นผู้ปรารถนาดีที่ซื่อสัตย์ ผู้มีบุญคุณด้วยความรัก ผู้เป็นกลาง ผู้ปรองดอง ผู้อิจฉา มิตรและศัตรู นักบุญและคนบาป ทั้งหมดนี้ด้วยจิตใจที่เสมอภาค
โศล 10:นักทิพย์นิยมควรปฏิบัติด้วยร่างกาย จิตใจ และชีวิตในความสัมพันธ์กับองค์ภควานฺเสมอ เขาควรอยู่คนเดียวในที่สันโดษ ควรควบคุมจิตใจของตนเองด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา และควรเป็นอิสระจากความต้องการและความรู้สึกเป็นเจ้าของ
โศล 11-12:ในการฝึกปฏิบัติโยคะเขาควรไปที่สถานที่สันโดษและควรวางหญ้า กุศ บนพื้น จากนั้นคลุมด้วยหนังกวางและผ้านุ่ม ที่นั่งไม่ควรสูงหรือต่ำเกินไป และควรอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นโยคีควรนั่งบนที่นั่งนี้ด้วยความแน่วแน่มั่นคง ฝึกปฏิบัติโยคะเพื่อให้หัวใจสะอาดบริสุทธิ์ด้วยการควบคุมจิตใจ ประสาทสัมผัส และกิจกรรมของตนเอง ตั้งมั่นจิตอยู่ที่จุดเดียว
โศล 13-14:เขาควรตั้งร่างกาย คอ และศีรษะให้เป็นเส้นตรง จ้องไปที่ปลายจมูกอย่างแน่วแน่ และด้วยจิตใจที่สงบนิ่งไม่หวั่นไหว ปราศจากความกลัว เป็นอิสระจากชีวิตเพศสัมพันธ์โดยสมบูรณ์ ภายในหัวใจเขาควรทำสมาธิอยู่ที่ข้า และให้ข้าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งชีวิต
โศล 15:จากการฝึกปฏิบัติการควบคุมร่างกาย จิตใจ และกิจกรรมอยู่เสมอ นักทิพย์นิยมผู้มีฤทธิ์สามารถประมาณจิตใจของตนเองได้ และบรรลุถึงอาณาจักรแห่งองค์ภควานฺ (หรือพระตำหนักขององค์กฺฤษฺณ) ด้วยการยุติความเป็นอยู่ทางวัตถุ
โศล 16:โอ้ อรฺชุน เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลจะมาเป็นโยคี หากเขากินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป นอนมากเกินไป หรือนอนไม่พอ
โศล 17:ผู้ที่ประมาณนิสัยในการกิน การนอน การพักผ่อนหย่อนใจ และการทำงานจะสามารถขจัดความเจ็บปวดทางวัตถุทั้งปวงได้ด้วยการฝึกปฏิบัติตามระบบโยคะ
โศล 18:เมื่อโยคีได้ฝึกปฏิบัติโยคะทำให้กิจกรรมจิตใจมีระเบียบวินัย และสถิตในความเป็นทิพย์ ปราศจากความต้องการทางวัตถุทั้งปวง กล่าวได้ว่าเขานั้นได้สถิตอย่างดีในโยคะ
โศล 19:ดังเช่นตะเกียงในสถานที่ที่ไม่มีลมจะไม่หวั่นไหว นักทิพย์นิยมผู้ควบคุมจิตใจของตนเองได้จะดำรงรักษาความมั่นคงในการทำสมาธิอยู่ที่รูปลักษณ์ทิพย์เสมอ
โศล 20-23:ในระดับแห่งความสมบูรณ์เรียกว่าสมาธิ จิตของเขาจะถูกควบคุมอย่างสมบูรณ์ให้ออกจากกิจกรรมตามแนวคิดทางวัตถุด้วยการฝึกปฏิบัติโยคะ ความสมบูรณ์เช่นนี้มีลักษณะคือเขาสามารถเห็นตนเองด้วยจิตที่บริสุทธิ์ และมีความร่าเริงยินดีอยู่ในตนเอง ในระดับแห่งความร่าเริงนั้นเขาสถิตในความสุขทิพย์ที่ไร้ขอบเขต รู้แจ้งผ่านทางประสาทสัมผัสทิพย์ เมื่อสถิตเช่นนี้จะไม่มีวันออกห่างจากความจริง และจากการได้รับสิ่งนี้เขาคิดว่าไม่มีอะไรที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่า เมื่อสถิตในสถานภาพนี้จะไม่มีวันสั่นคลอนแม้จะอยู่ท่ามกลางความยากลำบากอย่างใหญ่หลวง นี่คือเสรีภาพอันแท้จริงจากความทุกข์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการมาสัมผัสกับวัตถุ
โศล 24:เราควรปฏิบัติตนในการฝึกปฏิบัติโยคะด้วยความมั่นใจและศรัทธาโดยไม่เบี่ยงเบนจากวิถีทาง เราควรละทิ้งความปรารถนาทางวัตถุทั้งมวลอันเกิดมาจากการคาดคะเนทางจิตใจโดยไม่มีข้อยกเว้น และควบคุมประสาทสัมผัสทั้งหมดจากรอบด้านด้วยจิตใจ
โศล 25:ค่อยๆเป็นค่อยๆไปทีละขั้น เขาควรสถิตในสมาธิด้วยวิถีทางแห่งปัญญา และมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม ดังนั้นจิตใจควรตั้งมั่นอยู่ที่ตนเองเท่านั้น และไม่ควรคิดถึงสิ่งอื่นใด
โศล 26:จิตใจที่ล่องลอยไปยังแห่งหนใดก็แล้วแต่นั้น เป็นผลมาจากธรรมชาติที่ไม่หยุดนิ่งและไม่มั่นคงของมันเอง เราต้องเอามันออกและดึงมันให้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของตัวเราให้ได้
โศล 27:โยคีผู้มีจิตใจตั้งมั่นอยู่ที่ข้า บรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุดแห่งความสุขทิพย์อย่างแท้จริง เขาอยู่เหนือระดับตัณหา รู้แจ้งคุณสมบัติอันแท้จริงของตนเองกับองค์ภควานฺ ดังนั้นจึงเป็นอิสระจากผลกรรมในอดีตทั้งปวง
โศล 28:ดังนั้นโยคีผู้ที่ควบคุมตนเองได้ปฏิบัติตนฝึกฝนอยู่ในโยคะเสมอ เป็นอิสรเสรีจากมลทินทางวัตถุทั้งปวง และบรรลุระดับสูงสุดแห่งความสุขที่สมบูรณ์ในการรับใช้องค์ภควานด้วยความรักทิพย์
โศล 29:โยคีที่แท้จริงจะเห็นข้าอยู่ในทุกๆชีวิต และเห็นทุกๆชีวิตอยู่ในข้า อันที่จริงบุคคลผู้รู้แจ้งแห่งตนเห็นข้าภควานฺองค์เดียวกันทุกหนทุกแห่ง
โศล 30:สำหรับผู้ที่เห็นข้าทุกหนทุกแห่ง และเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในข้า ข้าไม่เคยหายไปจากเขา และเขาก็ไม่เคยหายไปจากข้า
โศล 31:โยคีผู้ฏิบัติในการรับใช้องค์อภิวิญญาณด้วยความเคารพบูชาเช่นนี้ รู้ว่าข้าและอภิวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวกันจะดำรงอยู่ในข้าเสมอในทุกๆสถานการณ์
โศล 32:จากการเปรียบเทียบกับตัวเขาเอง โยคีผู้สมบูรณ์เห็นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายด้วยความเสมอภาคอย่างแท้จริง ทั้งในขณะที่พวกเขามีความสุขและในขณะที่มีความทุกข์ โอ้ อรฺชุน
โศล 33:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ มธุสูทน ระบบโยคะที่พระองค์ทรงสรุปให้นี้ดูเหมือนจะปฏิบัติไม่ได้ และข้าไม่มีความอดทนพอเพราะว่าจิตใจไม่สงบนิ่งและไม่มั่นคง
โศล 34:เพราะว่าจิตใจไม่สงบนิ่ง พลุกพล่าน ดื้อรั้น และมีพลังมาก โอ้ กฺฤษฺณ และในการปราบปรามมันข้าพเจ้าคิดว่ายากยิ่งกว่าการควบคุมลม
โศล 35:องค์ศฺรี กฺฤษฺณตรัสว่า โอ้ ยอดนักรบโอรสพระนาง กุนฺตี การดัดจิตใจที่ไม่สงบนิ่งเป็นสิ่งที่ยากมากโดยไม่ต้องสงสัย แต่เป็นไปได้ด้วยการฝึกปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม และด้วยการไม่ยึดติด
โศล 36:สำหรับผู้ที่หักห้ามจิตใจของตนเองไม่ได้ การรู้แจ้งแห่งตนเป็นงานที่ยาก แต่ผู้ที่ควบคุมจิตใจตนเองได้ และมีความพยายามในวิถีทางที่ถูกต้องจะประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน นี่คือความเห็นของข้า
โศล 37:อรฺชุน ตรัสว่า โอ้ กฺฤษฺณ นักทิพย์นิยมผู้ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งในตอนแรกรับเอาวิถีทางเพื่อความรู้แจ้งแห่งตนมาปฏิบัติด้วยความศรัทธา แต่ต่อมาได้ยกเลิกการปฏิบัติอันเนื่องมาจากจิตใจมาฝักใฝ่ทางโลก ดังนั้นจึงไม่บรรลุความสมบูรณ์ในโยคะ จุดหมายปลายทางของบุคคลเช่นนี้อยู่ที่ใหน
โศล 38:โอ้ กฺฤษฺณ ยอดนักรบ ผู้สับสนบนวิถีทิพย์ไม่ประสบผลสำเร็จทั้งในวิถีทิพย์และวิถีวัตถุจะแตกดับเสมือนดั่งก้อนเมฆที่สูญสลายหายไป โดยไม่มีตำแหน่งที่จะยืนอยู่ไม่ว่าในอาณาจักรใดใช่หรือไหม
โศล 39:โอ้ กฺฤษฺณ นี่คือข้อสงสัย ข้าพเจ้าขอให้พระองค์ทรงช่วยขจัดข้อสงสัยนี้ไปให้หมดสิ้น นอกจากพระองค์แล้วจะไม่มีผู้ใดสามารถขจัดข้อสงสัยนี้ได้
โศล 40:องค์ภควานตรัสว่า โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา นักทิพย์นิยมผู้ปฏิบัติกิจกรรมอันเป็นมงคลจะไม่พบกับความหายนะ ไม่ว่าในโลกนี้หรือในโลกทิพย์ สหายของข้า! คนทำดีจะไม่มีวันถูกความชั่วครอบงำ
โศล 41:หลังจากมีความสุขหลายๆปีบนดาวเคราะห์ของสิ่งมีชีวิตผู้มีบุญ โยคีผู้ไม่ประสบความสำเร็จจะเกิดในตระกูลของคนที่มีคุณธรรม หรือเกิดในตระกูลสูงที่ร่ำรวย
โศล 42:หรือ (หากไม่ประสบผลสำเร็จหลังจากฝึกปฏิบัติโยคะไปเป็นเวลานาน) เขาจะเกิดในครอบครัวของนักทิพย์นิยมผู้ที่เปี่ยมไปด้วยปัญญาอย่างแน่นอน และเป็นจริงที่ว่าการเกิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยากในโลกนี้
โศล 43:การเกิดเช่นนี้ทำให้ได้ฟื้นฟูจิตสำนึกทิพย์ของเขาจากชาติปางก่อน และพยายามเพื่อความเจริญก้าวหน้าอีกครั้งในการบรรลุถึงความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โอ้ โอรสแห่ง กุรุ
โศล 44:ด้วยบุญบารมีแห่งจิตสำนึกทิพย์จากชาติปางก่อน จิตใจของเขาจะชื่นชอบหลักธรรมของโยคะโดยปริยาย ถึงแม้จะไม่ได้แสวงหา นักทิพย์นิยมที่ชอบถามผู้นี้จะยืนอยู่เหนือหลักพิธีกรรมของพระคัมภีร์เสมอ
โศล 45:และเมื่อโยคีปฏิบัติตนด้วยความพยายามอย่างจริงใจในความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอีก ชะล้างมลทินทั้งหมด และในที่สุดบรรลุถึงความสมบูรณ์ หลังจากฝึกปฏิบัติมาหลายต่อหลายชาติ เขาจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด
โศล 46:โยคียิ่งใหญ่กว่านักพรต ยิ่งใหญ่กว่านักปราชญ์ และยิ่งใหญ่กว่าผู้ทำงานเพื่อผลทางวัตถุ ฉะนั้น โอ้ อรฺชุน ในทุกๆสถานการณ์เธอจงเป็นโยคี
โศล 47:ในบรรดาโยคีทั้งหลายผู้ที่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา มีข้าเป็นสรณะอยู่เสมอ ระลึกถึงข้าอยู่ภายใน ปฏิบัติรับใช้ข้าด้วยความรักทิพย์ โยคีผู้นี้อยู่ร่วมกับข้าในโยคะอย่างใกล้ชิดที่สุด และเป็นบุคคลสูงสุด นี่คือความคิดเห็นของข้า