ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ หก

ธฺยาน-โยค

โศลก 10

yogī yuñjīta satatam
ātmānaṁ rahasi sthitaḥ
ekākī yata-cittātmā
nirāśīr aparigrahaḥ
โยคี ยุญฺชีต สตตมฺ
อาตฺมานํ รหสิ สฺถิตห์
เอกากี ยต-จิตฺตาตฺมา
นิราศีรฺ อปริคฺรหห์
โยคี — นักทิพย์นิยม, ยุญฺชีต — ต้องทำสมาธิในกฺฤษฺณจิตสำนึก, สตตมฺ — ตลอดเวลา, อาตฺมานมฺ — ตัวเขา (ด้วยร่างกาย จิตใจ และชีวิต), รหสิ — ในที่สันโดษ, สฺถิตห์ — สถิต, เอกากี — คนเดียว, ยต-จิตฺต-อาตฺมา — ระวังอยู่ในจิตใจเสมอ, นิราศีห์ — ไม่ถูกสิ่งใดยั่วยวน, อปริคฺรหห์ — ปราศจากความรู้สึกเป็นเจ้าของ

คำแปล

นักทิพย์นิยมควรปฏิบัติด้วยร่างกาย จิตใจ และชีวิตในความสัมพันธ์กับองค์ภควานฺเสมอ เขาควรอยู่คนเดียวในที่สันโดษ ควรควบคุมจิตใจของตนเองด้วยความระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา และควรเป็นอิสระจากความต้องการและความรู้สึกเป็นเจ้าของ

คำอธิบาย

ศฺรี กฺฤษฺณ ทรงรู้แจ้งได้ในระดับต่างๆกัน เช่น พฺรหฺมนฺ ปรมาตฺมา และ ภควานฺ กฺฤษฺณจิตสำนึกหมายความอย่างตรงประเด็นว่าปฏิบัติตนในการรับใช้ทิพย์ด้วยความรักแด่องค์ภควานฺอยู่เสมอ แต่พวกที่ยึดติดกับ พฺรหฺมนฺ อันไร้รูปลักษณ์ หรือองค์อภิวิญญาณผู้ทรงประทับอยู่ภายในหัวใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกฺฤษฺณจิตสำนึกเช่นกัน เพราะ พฺรหฺมนฺ อันไร้รูปลักษณ์เป็นรัศมีทิพย์ขององค์กฺฤษฺณ และอภิวิญญาณทรงเป็นส่วนที่แยกออกมาจากองค์กฺฤษฺณซึ่งแผ่กระจายไปทั่ว ดังนั้นผู้ไม่เชื่อในรูปลักษณ์และนักปฏิบัติสมาธิก็มีกฺฤษฺณจิตสำนึกทางอ้อมเช่นกัน บุคคลในกฺฤษฺณจิตสำนึกโดยตรงเป็นนักทิพย์นิยมสูงสุดเพราะสาวกเช่นนี้ทราบว่า พฺรหฺมนฺ และ ปรมาตฺมา หมายความว่าอย่างไร ความรู้แห่งสัจธรรมของเขานั้นสมบูรณ์ ในขณะที่ผู้ไม่เชื่อในรูปลักษณ์และโยคีผู้ทำสมาธิมีกฺฤษฺณจิตสำนึกที่ไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดีได้มีการแนะนำไว้ที่นี้ทั้งหมดว่าให้เราปฏิบัติในสายงานอาชีพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อเราอาจไปถึงจุดสมบูรณ์สูงสุดได้ในไม่ช้าก็เร็ว ภารกิจข้อแรกของนักทิพย์นิยมคือตั้งจิตอยู่ที่องค์กฺฤษฺณเสมอ เขาควรระลึกถึงองค์กฺฤษฺณอยู่เสมอและไม่ลืมพระองค์แม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว การตั้งจิตอยู่ที่องค์ภควานฺเรียกว่า สมาธิ เพื่อให้จิตตั้งมั่นเขาควรดำรงอยู่อย่างสันโดษเสมอและหลีกเลี่ยงการรบกวนจากอายตนะภายนอก เขาควรระมัดระวังอย่างยิ่งในการรับเอาสภาวะที่เอื้อประโยชน์ และปฏิเสธสภาวะที่ไม่เอื้อประโยชน์ที่จะมีผลกระทบต่อความรู้แจ้งแห่งตน และด้วยความมั่นใจอย่างสมบูรณ์เขาไม่ควรทะเยอทะยานกับสิ่งของวัตถุที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะพันธนาการตนเองด้วยความรู้สึกเป็นเจ้าของ

ความสมบูรณ์และข้อควรระวังทั้งหมดนี้ปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์เมื่ออยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกโดยตรง เพราะว่ากฺฤษฺณจิตสำนึกโดยตรงหมายถึงการสละทิ้งตนเอง เช่นนี้จึงเปิดโอกาสน้อยมากที่จะเป็นเจ้าของวัตถุ ศฺรีล รูป โคสฺวามี แสดงลักษณะของกฺฤษฺณจิตสำนึกไว้ดังนี้

อนาสกฺตสฺย วิษยานฺ ยถารฺหมฺ อุปยุญฺชตห์
นิรฺพนฺธห์ กฺฤษฺณ-สมฺพนฺเธ, ยุกฺตํ ไวราคฺยมฺ อุจฺยเต
ปฺราปญฺจิกตยา พุทฺธฺยา
หริ-สมฺพนฺธิ-วสฺตุนห์
มุมุกฺษุภิห์ ปริตฺยาโค
ไวราคฺยํ ผลฺคุ กถฺยเต
“เมื่อเขาไม่ยึดติดกับสิ่งใด แต่ในขณะเดียวกันยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างในความสัมพันธ์กับองค์กฺฤษฺณ เขาสถิตอย่างถูกต้องเหนือความเป็นเจ้าของ อีกด้านหนึ่งผู้ที่ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างทุกสิ่งทุกอย่างกับองค์กฺฤษฺณนั้น การเสียสละของบุคคลนี้ถือว่าไม่สมบูรณ์” (ภกฺติ-รสามฺฤต-สินฺธุ 1.2.255-256)

บุคคลผู้มีกฺฤษฺณจิตสำนึกทราบดีว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นขององค์กฺฤษฺณ ดังนั้นเขาจึงเป็นอิสระจากความรู้สึกเป็นเจ้าของส่วนตัวอยู่เสมอ เขาไม่มีความทะเยอทะยานไม่ว่าสิ่งใดๆสำหรับส่วนตัว เขาทราบว่าควรรับเอาสิ่งต่างๆมาส่งเสริมในกฺฤษฺณจิตสำนึกได้อย่างไร และทราบว่าควรปฏิเสธกับสิ่งที่ไม่ส่งเสริมในกฺฤษฺณจิตสำนึก เขาปลีกตัวออกห่างจากสิ่งของวัตถุเสมอเพราะว่าเขาจะอยู่ในระดับทิพย์เสมอ เขาจะอยู่อย่างสันโดษเสมอโดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับบุคคลผู้ที่ไม่มีกฺฤษฺณจิตสำนึก ฉะนั้นบุคคลในกฺฤษฺณจิตสำนึกจึงเป็นโยคีที่สมบูรณ์