ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ หก

ธฺยาน-โยค

โศลก 32

ātmaupamyena sarvatra
samaṁ paśyati yo ’rjuna
sukhaṁ vā yadi vā duḥkhaṁ
sa yogī paramo mataḥ
อาตฺเมาปเมฺยน สรฺวตฺร
สมํ ปศฺยติ โย ’รฺชุน
สุขํ วา ยทิ วา ทุห์ขํ
ส โยคี ปรโม มตห์
อาตฺม — ด้วยตัวเขา, เอาปเมฺยน — ด้วยการเปรียบเทียบ, สรฺวตฺร — ทุกหนทุกแห่ง, สมมฺ — เท่าเทียมกัน, ปศฺยติ — เห็น, ยห์ — เขาผู้ซึ่ง, อรฺชุน — โอ้ อรฺชุน, สุขมฺ — ความสุข, วา — หรือ, ยทิ — ถ้า, วา — หรือ, ทุห์ขมฺ — ความทุกข์, สห์ — เช่นนี้, โยคี — นักทิพย์นิยม, ปรมห์ — สมบูรณ์, มตห์ — พิจารณา

คำแปล

จากการเปรียบเทียบกับตัวเขาเอง โยคีผู้สมบูรณ์เห็นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายด้วยความเสมอภาคอย่างแท้จริง ทั้งในขณะที่พวกเขามีความสุขและในขณะที่มีความทุกข์ โอ้ อรฺชุน

คำอธิบาย

ผู้มีกฺฤษฺณจิตสำนึกเป็นโยคีที่สมบูรณ์ เขารู้ถึงความสุขและความทุกข์ของทุกๆคนโดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว สาเหตุแห่งความทุกข์ของสิ่งมีชีวิตคือการลืมความสัมพันธ์ของตนเองกับองค์ภควานฺ และสาเหตุแห่งความสุขคือรู้ว่าองค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงเป็นผู้มีความสุขเกษมสำราญสูงสุดในกิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ องค์กฺฤษฺณทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินและดาวเคราะห์ทั้งหมด และองค์กฺฤษฺณทรงเป็นเพื่อนผู้มีความจริงใจที่สุดของมวลชีวิต โยคีที่สมบูรณ์รู้ว่าสิ่งมีชีวิตผู้อยู่ในสภาวะของระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ อยู่ภายใต้อำนาจของความทุกข์ทางวัตถุสามคำรบอันเนื่องมาจากการลืมความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับองค์กฺฤษฺณ เนื่องจากผู้ที่อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกมีความสุขจึงพยายามแจกจ่ายความรู้แห่งองค์กฺฤษฺณนี้ไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะว่าโยคีที่สมบูรณ์พยายามประกาศความสำคัญในการมาเป็นกฺฤษฺณจิตสำนึกจึงเป็นคนใจบุญที่ดีที่สุดในโลก และเป็นคนรับใช้ที่น่ารักที่สุดขององค์ภควานฺ ตสฺมานฺ มนุเษฺยษุ กศฺจินฺ เม ปฺริย-กฺฤตฺตมห์ (ภค.18.69) อีกนัยหนึ่งสาวกของพระองค์มุ่งบำรุงสุขแด่มวลชีวิตอยู่เสมอด้วยเหตุนี้จึงเป็นมิตรแท้ของทุกๆคน เขาเป็นโยคีที่ดีที่สุดเพราะว่าไม่ปรารถนาความสมบูรณ์ในโยคะเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแต่พยายามเพื่อคนอื่น เขาไม่อิจฉาเพื่อนสิ่งมีชีวิตด้วยกัน นี่คือข้อแตกต่างระหว่างสาวกผู้บริสุทธิ์ขององค์ภควานฺ และโยคีผู้ที่สนใจเพียงแต่ความเจริญก้าวหน้าของตนเองเท่านั้น โยคีผู้ที่ถอนตัวไปอยู่อย่างสันโดษเพื่อทำสมาธิโดยสมบูรณ์อาจไม่สมบูรณ์บริบูรณ์เท่ากับสาวกผู้ที่พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ทุกๆคนได้มีกฺฤษฺณจิตสำนึก