ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ หก

ธฺยาน-โยค

โศลก 34

cañcalaṁ hi manaḥ kṛṣṇa
pramāthi balavad dṛḍham
tasyāhaṁ nigrahaṁ manye
vāyor iva su-duṣkaram
จญฺจลํ หิ มนห์ กฺฤษฺณ
ปฺรมาถิ พลวทฺ ทฺฤฒมฺ
ตสฺยาหํ นิคฺรหํ มเนฺย
วาโยรฺ อิว สุ-ทุษฺกรมฺ
จญฺจลมฺ — ไม่สงบนิ่ง, หิ — แน่นอน, มนห์ — จิตใจ, กฺฤษฺณ — โอ้ กฺฤษฺณ, ปฺรมาถิ — ว้าวุ่น, พล-วตฺ — มีพลังมาก, ทฺฤฒมฺ — ดื้อรั้น, ตสฺย — ของมัน, อหมฺ — ข้า, นิคฺรหมฺ — ปราบ, มเนฺย — คิด, วาโยห์ — ของลม, อิว — เหมือน, สุ-ทุษฺกรมฺ — ยาก

คำแปล

เพราะว่าจิตใจไม่สงบนิ่ง พลุกพล่าน ดื้อรั้น และมีพลังมาก โอ้ กฺฤษฺณ และในการปราบปรามมันข้าพเจ้าคิดว่ายากยิ่งกว่าการควบคุมลม

คำอธิบาย

จิตใจมีพลังมากและดื้อรั้นซึ่งบางครั้งก็เอาชนะปัญญา ถึงแม้ว่าจิตใจควรอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของปัญญา สำหรับบุคคลผู้อยู่ในโลกแห่งการปฏิบัติที่ต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามมากมายแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยากมากในการควบคุมจิตใจ เขาอาจทำใจให้เป็นกลางอย่างผิดธรรมชาติระหว่างเพื่อนกับศัตรู แต่ในที่สุดไม่มีผู้ใดในโลกสามารถทำได้ สำหรับการกระทำเช่นนั้นมันยากยิ่งกว่าการควบคุมลมพายุที่พัดมาอย่างแรง ในวรรณกรรมพระเวท (กฐ อุปนิษทฺ 1.3.3-4) กล่าวไว้ว่า

อาตฺมานํ รถินํ วิทฺธิ
ศรีรํ รถมฺ เอว จ
พุทฺธึ ตุ สารถึ วิทฺธิ
มนห์ ปฺรคฺรหมฺ เอว จ
อินฺทฺริยาณิ หยานฺ อาหุรฺ
วิษยำสฺ เตษุ โคจรานฺ
อาตฺเมนฺทฺริย-มโน-ยุกฺตํ
โภกฺเตตฺยฺ อาหุรฺ มนีษิณห์
“ปัจเจกวิญญาณเป็นผู้โดยสารในพาหนะแห่งร่างวัตถุ ปัญญาเป็นผู้ขับ จิตใจเป็นคันบังคับ และประสาทสัมผัสเป็นม้า ตัวเขาจะได้รับความสุขหรือความทุกข์นั้นเกิดจากการมาคบหาสมาคมกับจิตใจและประสาทสัมผัส จึงเป็นที่เข้าใจโดยนักคิดผู้ยิ่งใหญ่” ปัญญาควรเป็นผู้สั่งจิตใจแต่จิตใจมีพลังอำนาจมาก และดื้อรั้นจนส่วนใหญ่เอาชนะแม้กระทั่งปัญญาของตนเอง เหมือนกับโรคปัจจุบันทันด่วนที่ดื้อยา จิตใจที่มีพลังมากเช่นนี้ควรถูกควบคุมด้วยการฝึกปฏิบัติโยคะ แต่การฝึกเช่นนี้ปฏิบัติไม่ได้แม้สำหรับบุคคลทางโลก เช่น อรฺชุน จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงคนในยุคสมัยนี้ คำอุปมาที่ให้ไว้ ที่นี้เหมาะสมดีว่า เราไม่สามารถจับกุมลมที่พัดมาแรงได้ฉันใดก็เป็นการยากยิ่งไปกว่าที่จะจับกุมจิตใจที่พลุกพล่านได้ฉันนั้น องค์ไจตนฺย ทรงแนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดด้วยความถ่อมตนอย่างยิ่งในการควบคุมจิตใจ คือ การร้องเพลงสวดมนต์ภาวนา หเร กฺฤษฺณ ซึ่งเป็นบทมนต์อันยิ่งใหญ่เพื่อการจัดส่ง ได้อธิบายวิธีไว้ดังนี้ ไว มนห์ กฺฤษฺณ-ปทารวินฺทโยห์ เราต้องใช้จิตใจอย่างเต็มที่ในองค์กฺฤษฺณ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจึงจะไม่มีกิจกรรมอื่นใดทำให้จิตใจวุ่นวาย