ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ หก

ธฺยาน-โยค

โศลก 45

prayatnād yatamānas tu
yogī saṁśuddha-kilbiṣaḥ
aneka-janma-saṁsiddhas
tato yāti parāṁ gatim
ปฺรยตฺนาทฺ ยตมานสฺ ตุ
โยคี สํศุทฺธ-กิลฺพิษห์
อเนก-ชนฺม-สํสิทฺธสฺ
ตโต ยาติ ปรำ คติมฺ
ปฺรยตฺนาตฺ — ด้วยการฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง, ยตมานห์ — ความพยายาม, ตุ — และ, โยคี — นักทิพย์นิยมเช่นนี้, สํศุทฺธ — ชะล้าง, กิลฺพิษห์ — ความบาปทั้งมวล, อเนก — หลังจากหลายต่อหลาย, ชนฺม — การเกิด, สํสิทฺธห์ — บรรลุความสมบูรณ์, ตตห์ — หลังจากนั้น, ยาติ — ได้รับ, ปรามฺ — สูงสุด, คติมฺ — จุดมุ่งหมาย

คำแปล

และเมื่อโยคีปฏิบัติตนด้วยความพยายามอย่างจริงใจในความเจริญก้าวหน้าขึ้นไปอีก ชะล้างมลทินทั้งหมด และในที่สุดบรรลุถึงความสมบูรณ์ หลังจากฝึกปฏิบัติมาหลายต่อหลายชาติ เขาจะบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุด

คำอธิบาย

บุคคลผู้เกิดในตระกูลสูงและมีคุณธรรมหรือตระกูลที่ใฝ่ศาสนาโดยเฉพาะรู้สำนึกถึงสภาวะที่เอื้ออำนวยในการฝึกปฏิบัติโยคะ ดังนั้นด้วยความมั่นใจจึงเริ่มทำงานที่ยังคั่งค้างอยู่และชะล้างตัวเขาจากมลทินทางวัตถุทั้งมวลให้บริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ ในที่สุดเมื่อเป็นอิสระจากมลทินทั้งมวลเขาจะบรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุด หรือกฺฤษฺณจิตสำนึก กฺฤษฺณจิตสำนึกเป็นระดับที่สมบูรณ์ในการเป็นอิสระจากมลทินทั้งมวล ได้ยืนยันไว้ใน ภควัท-คีตา (7.28)

เยษำ ตฺวฺ อนฺต-คตํ ปาปํ
ชนานำ ปุณฺย-กรฺมณามฺ
เต ทฺวนฺทฺว-โมห-นิรฺมุกฺตา
ภชนฺเต มำ ทฺฤฒ-วฺรตาห์
“หลังจากหลายต่อหลายชาติในการสะสมบุญ เมื่อเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากมลทินทั้งปวงจากความหลงกับสิ่งคู่ทั้งหลาย เขาจะมาปฏิบัติในการรับใช้ทิพย์ด้วยความรักต่อองค์ภควานฺ”