ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ หก

ธฺยาน-โยค

โศลก 8

jñāna-vijñāna-tṛptātmā
kūṭa-stho vijitendriyaḥ
yukta ity ucyate yogī
sama-loṣṭrāśma-kāñcanaḥ
ชฺญาน-วิชฺญาน-ตฺฤปฺตาตฺมา
กูฏ-โสฺถ วิชิเตนฺทฺริยห์
ยุกฺต อิตฺยฺ อุจฺยเต โยคี
สม-โลษฺฏฺราศฺม-กาญฺจนห์
ชฺญาน — ด้วยความรู้ที่เรียนมา, วิชฺญาน — และความรู้แจ้งจากการปฏิบัติ, ตฺฤปฺต — พึงพอใจ, อาตฺมา — สิ่งมีชีวิต, กูฏ-สฺถห์ — สถิตในระดับทิพย์, วิชิต-อินฺทฺริยห์ — ควบคุมประสาทสัมผัส, ยุกฺตห์ — สามารถรู้แจ้งตนเอง, อิติ — ดังนั้น, อุจฺยเต — กล่าวว่า, โยคี — โยคี, สม — เที่ยงตรง, โลษฺฏฺร — กรวด, อศฺม — หิน, กาญฺจนห์ — ทอง

คำแปล

ผู้ที่สถิตในความรู้แจ้งแห่งตนเรียกว่า โยคี (หรือผู้มีอิทฤทธิ์) เมื่อเขามีความพึงพอใจอย่างเต็มเปี่ยมในบุญบารมีแห่งความรู้และความรู้แจ้งที่ได้รับ บุคคลเช่นนี้สถิตในระดับทิพย์เป็นผู้ควบคุมตนเองได้ เขาเห็นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นก้อนกรวด ก้อนหิน หรือทองคำมีค่าเท่ากัน

คำอธิบาย

ความรู้จากหนังสือโดยปราศจากความรู้แจ้งแห่งสัจธรรมสูงสุดนั้นไร้ประโยชน์ ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้

อตห์ ศฺรี-กฺฤษฺณ-นามาทิ
น ภเวทฺ คฺราหฺยมฺ อินฺทฺริไยห์
เสโวนฺมุเข หิ ชิหฺวาเทา
สฺวยมฺ เอว สฺผุรตฺยฺ อทห์
“ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าใจธรรมชาติทิพย์แห่งพระนาม พระวรกาย คุณสมบัติ และลีลาขององค์ศฺรี กฺฤษฺณด้วยประสาทสัมผัสวัตถุของตนที่มีมลทินได้ จะได้ก็ต่อเมื่อเขามีความอิ่มเอิบทิพย์ด้วยการรับใช้ทิพย์แด่องค์ภควานฺ พระนามทิพย์ พระวรกายทิพย์ คุณสมบัติทิพย์ และลีลาทิพย์ของพระองค์จึงจะปรากฏแก่เขา” (ภกฺติ-รสามฺฤต-สินฺธุ 1.2.234)

หนังสือ ภควัท-คีตา นี้เป็นศาสตร์แห่งกฺฤษฺณจิตสำนึก ไม่มีผู้ใดสามารถมาเป็นกฺฤษฺณจิตสำนึกได้ด้วยการศึกษาทางโลก เขาต้องโชคดีพอที่ได้มาคบหาสมาคมกับบุคคลผู้อยู่ในจิตสำนึกที่บริสุทธิ์ บุคคลผู้มีกฺฤษฺณจิตสำนึกมีความรู้แจ้งด้วยพระกรุณาธิคุณขององค์กฺฤษฺณ เพราะเขาพึงพอใจต่อการอุทิศตนเสียสละรับใช้ที่บริสุทธิ์ ด้วยความรู้แจ้งทำให้เขาสมบูรณ์ด้วยความรู้ทิพย์ทำให้เขาสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในความมุ่งมั่น หากเพียงแต่เป็นความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวอาจทำให้หลงผิดได้โดยง่ายดาย และเกิดสับสนจากการปรากฏที่ขัดกัน ดวงวิญญาณผู้รู้แจ้งสามารถควบคุมตนเองได้อย่างแท้จริงเพราะเขาศิโรราบองค์กฺฤษฺณผู้ทรงอยู่ในระดับทิพย์ และเขาไม่มีอะไรไปเกี่ยวข้องกับการศึกษาทางโลก การศึกษาทางโลกและการคาดคะเนทางจิตอาจดีเท่ากับทองคำสำหรับผู้อื่น แต่ไม่มีคุณค่ามากไปกว่าก้อนกรวดหรือก้อนหินสำหรับบุคคลผู้นี้