ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ แปด

การบรรลุถึงองค์ภควานฺ

โศลก 14

ananya-cetāḥ satataṁ
yo māṁ smarati nityaśaḥ
tasyāhaṁ su-labhaḥ pārtha
nitya-yuktasya yoginaḥ
อนนฺย-เจตาห์ สตตํ
โย มำ สฺมรติ นิตฺยศห์
ตสฺยาหํ สุ-ลภห์ ปารฺถ
นิตฺย-ยุกฺตสฺย โยคินห์
อนนฺย-เจตาห์ — จิตใจไม่เบี่ยงเบน, สตตมฺ — เสมอ, ยห์ — ผู้ใดที่, มามฺ — ข้า (คริขณะ), สฺมรติ — ระลึกถึง, นิตฺยศห์ — อยู่เสมอ, ตสฺย — สำหรับเขา, อหมฺ — ข้าเป็น, สุ-ลภห์ — บรรลุถึงโดยง่ายดาย, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, นิตฺย — สม่ำเสมอ, ยุกฺตสฺย — ปฏิบัติ, โยคินห์ — สำหรับสาวก

คำแปล

สำหรับผู้ที่ระลึกถึงข้าอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เบี่ยงเบนจะบรรลุถึงข้าโดยง่ายดาย เนื่องจากเขาปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้อยู่เสมอ โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา

คำอธิบาย

โศลกนี้อธิบายถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดโดยเฉพาะของสาวกผู้ไร้มลทินที่รับใช้องค์ภควานฺใน ภกฺติ-โยค นั้นจะบรรลุถึง โศลกก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงสาวกสี่ประเภทคือ ผู้มีความทุกข์ ผู้ใคร่รู้ ผู้แสวงหาผลกำไรทางวัตถุ และนักปราชญ์ผู้คาดคะเน ได้อธิบายหลายวิธีเพื่อความหลุดพ้นด้วย เช่น กรฺม-โยค, ชฺญาน-โยค และ หฐ-โยค หลักธรรมของระบบโยคะเหล่านี้มี ภกฺติ รวมอยู่บ้าง แต่โศลกนี้กล่าวถึง ภกฺติ-โยค ที่บริสุทธิ์โดยเฉพาะโดยไม่มีการผสมของ ชฺญาน, กรฺม หรือ หฐ ด้วยการใช้คำว่า อนนฺย-เจตาห์ ใน ภกฺติ-โยค ที่บริสุทธ์ สาวกไม่ปรารถนาสิ่งอื่นใดนอกจากองค์กฺฤษฺณ สาวกผู้บริสุทธิ์ไม่ปรารถนาที่จะได้รับการส่งเสริมให้ไปโลกสวรรค์ หรือปรารถนามาเป็นหนึ่งเดียวกับ พฺรหฺม-โชฺยติรฺ ความหลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากพันธนาการทางวัตถุสาวกผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องการสิ่งใดๆทั้งสิ้น ใน ไจตนฺย-จริตามฺฤต สาวกผู้บริสุทธิ์เรียกว่า นิษฺกาม หมายความว่าท่านไม่ปรารถนาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ความสงบอันสมบูรณ์เป็นของท่านโดยเฉพาะ ไม่ใช่พวกที่ดิ้นรนเพื่อผลประโยชน์แห่งตน ในขณะที่ ชฺญาน-โยคี, กรฺม-โยคี หรือ หฐ-โยคี มีผลประโยชน์ส่วนตัว สาวกผู้สมบูรณ์ไม่มีความปรารถนาอื่นใดนอกจากทำให้บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงมีความชื่นชมยินดี ดังนั้นองค์ภควานฺตรัสว่าผู้ใดที่อุทิศตนเสียสละแด่พระองค์ด้วยความแน่วแน่มั่นคงจะบรรลุถึงพระองค์โดยง่ายดาย

สาวกผู้บริสุทธิ์ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละต่อองค์กฺฤษฺณด้วยการรับใช้หนึ่งในรูปลักษณ์อันหลากหลายของพระองค์อยู่เสมอ องค์กฺฤษฺณมีภาคแบ่งแยกและอวตารที่สมบูรณ์มากมาย เช่น ราม และ นฺฤสึห สาวกเลือกที่จะตั้งจิตมั่นในการรับใช้ด้วยความรักแด่หนึ่งในรูปลักษณ์ทิพย์ขององค์ภควานฺเหล่านี้ สาวกผู้นี้จะไม่ประสบปัญหาที่ระบาดในหมู่ผู้ปฏิบัติโยคะอื่นๆ ภกฺติ-โยค ง่ายมากทั้งบริสุทธิ์และปฏิบัติได้ง่าย เราสามารถเริ่มต้นด้วยเพียงแต่สวดภาวนา หเร กฺฤษฺณ องค์ภควานฺทรงมีพระเมตตาต่อทุกชีวิตดังที่ได้อธิบายไว้แล้ว ทรงมีใจเอนเอียงโดยเฉพาะกับผู้ที่รับใช้พระองค์อยู่เสมอโดยไม่เบี่ยงเบน ทรงช่วยสาวกเหล่านี้ในวิธีต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์พระเวท (กฐ อุปนิษทฺ 1.2.23) ยมฺ เอไวษ วฺฤณุเต เตน ลภฺยสฺ / ตไสฺยษ อาตฺมา วิวฺฤณุเต ตนุํ สฺวามฺ ผู้ที่ศิโรราบโดยดุษฎีและปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้แด่องค์ภควานฺจึงเข้าใจพระองค์ตามความเป็นจริง ได้กล่าวไว้ใน ภควัท-คีตา (10.10) ว่า ททามิ พุทฺธิ-โยคํ ตมฺ องค์ภควานฺทรงให้ปัญญาแด่สาวกผู้นี้เพียงพอเพื่อในที่สุดเขาจะได้บรรลุถึงพระองค์ในอาณาจักรทิพย์

คุณสมบัติพิเศษของสาวกผู้บริสุทธิ์คือ จะคิดถึงองค์กฺฤษฺณอยู่ตลอดเวลาโดยไม่เบี่ยงเบนและโดยไม่คำนึงถึงเวลาและสถานที่ จึงไม่มีอุปสรรคใดๆทั้งสิ้น ท่านปฏิบัติรับใช้ในทุกสถานที่และทุกเวลา บางท่านกล่าวว่าสาวกควรอยู่ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เช่น วฺฤนฺทาวน หรือเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ที่องค์ภควานฺเคยประทับอยู่ แต่สาวกผู้บริสุทธิ์สามารถอยู่ที่ใดก็ได้และสร้างบรรยากาศแห่ง วฺฤนฺทาวน ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้ ศฺรี อไทฺวต กล่าวกับองค์ไจตนฺย ว่า “ไม่ว่าพระองค์ทรงอยู่ที่ไหน โอ้ องค์ภควานฺที่นั่นคือ วฺฤนฺทาวน

ได้แสดงไว้ด้วยคำพูด สตตมฺ และ นิตฺยศห์ ซึ่งหมายความว่า “ตลอดไป” “สม่ำเสมอ” หรือ “ทุกๆวัน” สาวกผู้บริสุทธิ์ระลึกถึงองค์กฺฤษฺณและทำสมาธิอยู่ที่พระองค์เสมอ สิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติของสาวกผู้บริสุทธิ์ที่จะบรรลุถึงองค์ภควานฺง่ายที่สุด ภกฺติ-โยค เป็นระบบที่ คีตา แนะนำซึ่งเหนือระบบอื่นใดทั้งหมด โดยทั่วไป ภกฺติ-โยคี ปฏิบัติได้ห้าวิธีคือ (1) ศานฺต-ภกฺต ปฏิบัติในการอุทิศตนเสียสละรับใช้ด้วยความเป็นกลาง (2) ทาสฺย-ภกฺต ปฏิบัติในการอุทิศตนรับใช้ในฐานะผู้รับใช้ (3) สขฺย-ภกฺต ปฏิบัติในฐานะเป็นเพื่อน (4) วาตฺสลฺย-ภกฺต ปฏิบัติในฐานะเป็นผู้ปกครอง และ (5) มาธุรฺย-ภกฺต ปฏิบัติในฐานะเป็นคู่รักขององค์ภควานฺ ไม่ว่าวิธีใดสาวกผู้บริสุทธิ์จะปฏิบัติการรับใช้ด้วยความรักทิพย์แด่องค์ภควานฺเสมอโดยไม่มีวันลืมพระองค์ดังนั้นการบรรลุถึงพระองค์จึงเป็นสิ่งง่ายดาย สาวกผู้บริสุทธิ์จะไม่ลืมองค์ภควานฺแม้เสี้ยววินาทีเดียว ในทำนองเดียวกันองค์ภควานฺก็ไม่สามารถลืมสาวกผู้บริสุทธิ์ของพระองค์แม้เสี้ยววินาทีเดียวเช่นกัน นี่คือพรอันประเสริฐของวิธีปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกด้วยการสวดภาวนามหามนต์ หเร กฺฤษฺณ หเร กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ กฺฤษฺณ หเร หเร / หเร ราม หเร ราม ราม ราม หเร หเร