ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ แปด

การบรรลุถึงองค์ภควานฺ

โศลก 22

puruṣaḥ sa paraḥ pārtha
bhaktyā labhyas tv ananyayā
yasyāntaḥ-sthāni bhūtāni
yena sarvam idaṁ tatam
ปุรุษห์ ส ปรห์ ปารฺถ
ภกฺตฺยา ลภฺยสฺ ตฺวฺ อนนฺยยา
ยสฺยานฺตห์-สฺถานิ ภูตานิ
เยน สรฺวมฺ อิทํ ตตมฺ
ปุรุษห์ — บุคลิกภาพสูงสุด, สห์ — เขา, ปรห์ — องค์ภควานฺซึ่งไม่มีผู้ใดยิ่งใหญ่ไปกว่า, ปารฺถ — โอ้ โอรสพระนาง ปฺฤถา, ภกฺตฺยา — ด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้, ลภฺยห์ — สามารถบรรลุถึง, ตุ — แต่, อนนฺยยา — มีมีสิ่งใดเจือปน, ไม่บ่ายเบี่ยง, ยสฺย — ผู้ซึ่ง, อนฺตห์-สฺถานิ — ภายใน, ภูตานิ — ปรากฏการณ์ทางวัตถุทั้งหมด, เยน — โดยผู้ซึ่ง, สรฺวมฺ — ทั้งหมด, อิทมฺ — อะไรก็แล้วแต่ที่เราสามารถเห็น, ตตมฺ — แผ่กระจาย

คำแปล

บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกๆคน บรรลุถึงได้ด้วยการอุทิศตนเสียสละที่บริสุทธิ์ แม้ว่าทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักของพระองค์พระองค์ยังทรงแผ่กระจายไปทั่วและทุกสิ่งทุกอย่างสถิตในพระองค์

คำอธิบาย

ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน ที่นี้ว่าจุดมุ่งหมายสูงสุด สถานที่ซึ่งไปถึงแล้วจะไม่ต้องกลับมาคือพระตำหนักขององค์กฺฤษฺณ องค์ภควานฺ พฺรหฺม-สํหิตา ได้อธิบายพระตำหนักสูงสุดนี้ว่าเป็น อานนฺท-จินฺมย-รส สถานที่ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปี่ยมไปด้วยความปลื้มปีติสุขทิพย์ ความหลากหลายแตกต่างทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ที่นั่นมีคุณสมบัติแห่งความปลื้มปีติสุขทิพย์ ไม่มีสิ่งใดเป็นวัตถุ ความหลากหลายแผ่ขยายออกไปดังเช่นการแผ่ขยายทิพย์ขององค์ภควานฺเอง เพราะว่าปรากฏการณ์ที่นั่นมาจากพลังงานทิพย์ล้วนๆดังได้อธิบายไว้ในบทที่เจ็ด สำหรับโลกวัตถุนี้แม้ว่าองค์ภควานฺทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักสูงสุดของพระองค์เสมอก็ยังทรงแผ่กระจายไปทั่วด้วยพลังงานวัตถุ ดังนั้นด้วยพลังงานทิพย์และพลังงานวัตถุขององค์กฺฤษฺณพระองค์จึงทรงปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่งทั้งในจักรวาลวัตถุและในจักรวาลทิพย์ ยสฺยานฺตห์-สฺถานิ หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างได้รับการค้ำจุนอยู่ภายในพระองค์ไม่ว่าภายในพลังงานทิพย์หรือภายในพลังงานวัตถุของพระองค์องค์ภควานฺทรงแผ่กระจายไปทั่วด้วยพลังงานทั้งสองนี้

การบรรลุถึงพระตำหนักสูงสุดขององค์กฺฤษฺณ หรือดาวเคราะห์ ไวกุณฺฐ ที่นับจำนวนไม่ถ้วนเป็นไปได้ด้วย ภกฺติ หรือการอุทิศตนเสียสละเท่านั้น ดังที่ได้แสดงไว้อย่างชัดเจน ที่นี้ด้วยคำว่า ภกฺตฺยา ไม่มีวิธีอื่นใดสามารถช่วยเราให้บรรลุถึงพระตำหนักสูงสุดนั้นได้ คัมภีร์พระเวท (โคปาล-ตาปนี อุปนิษทฺ 1.21) ได้อธิบายถึงพระตำหนักสูงสุดและบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าไว้เช่นกันว่า เอโก วศี สรฺว-คห์ กฺฤษฺณห์ ในพระตำหนักนั้นมีบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นผู้ทรงพระนามว่า กฺฤษฺณ พระองค์ทรงเป็นพระปฏิมาผู้มีพระเมตตาสูงสุด ถึงแม้จะทรงสถิตอยู่ ที่นั้นเป็นหนึ่งเดียวแต่ยังทรงแบ่งภาคของพระองค์เองนับจำนวนล้านๆพระองค์คัมภีร์พระเวทเปรียบเทียบองค์ภควานฺเหมือนกับต้นไม้ที่ยืนอยู่นิ่งๆแต่มีผลไม้ดอกไม้และการสลับสับเปลี่ยนใบอย่างหลากหลายมากมาย ภาคที่แบ่งแยกโดยสมบูรณ์ขององค์ภควานฺผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าสูงสุดแห่งดาวเคราะห์ ไวกุณฺฐ ต่างๆทรงมีสี่กร และทรงมีพระนามต่างๆกัน เช่น ปุรุโษตฺตม, ตฺริวิกฺรม, เกศว, มาธว, อนิรุทฺธ, หฺฤษีเกศ, สงฺกรฺษณ, ปฺรทฺยุมฺน, ศฺรีธร, วาสุเทว, ทาโมทร, ชนารฺทน, นารายณ, วามน, ปทฺมนาภ ฯลฯ

พฺรหฺม-สํหิตา (5.37) ได้ยืนยันไว้ว่าถึงแม้ว่าองค์ภควานฺทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักสูงสุด โคโลก วฺฤนฺทาวน เสมอ พระองค์ทรงแผ่กระจายไปทั่วเพื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะได้ดำเนินไปด้วยดี (โคโลก เอว นิวสตฺยฺ อขิลาตฺม-ภูตห์) ดังที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์พระเวท (เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ 6.8) ปราสฺย ศกฺติรฺ วิวิไธว ศฺรูยเต / สฺวาภาวิกี ชฺญาน-พล-กฺริยา พลังงานต่างๆของพระองค์ทรงแผ่กระจายไปทั่วจนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในปรากฏการณ์ทางจักรวาลดำเนินไปอย่างเป็นระบบและปราศจากข้อบกพร่อง ถึงแม้ว่าองค์ภควานฺจะทรงประทับอยู่ไกลแสนไกล