ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ แปด

การบรรลุถึงองค์ภควานฺ

โศลก 28

vedeṣu yajñeṣu tapaḥsu caiva
dāneṣu yat puṇya-phalaṁ pradiṣṭam
atyeti tat sarvam idaṁ viditvā
yogī paraṁ sthānam upaiti cādyam
เวเทษุ ยชฺเญษุ ตปห์สุ ไจว
ทาเนษุ ยตฺ ปุณฺย-ผลํ ปฺรทิษฺฏมฺ
อเตฺยติ ตตฺ สรฺวมฺ อิทํ วิทิตฺวา
โยคี ปรํ สฺถานมฺ อุไปติ จาทฺยมฺ
เวเทษุ — ในการศึกษาคัมภีร์พระเวท, ยชฺเญษุ — ในการปฏิบัติ ยชฺญ, การบูชา, ตปห์สุ — ในการปฏิบัติสมถะวิธีต่างๆ, — เช่นกัน, เอว — แน่นอน, ทาเนษุ — ในการให้ทาน, ยตฺ — ซึ่ง, ปุณฺย-ผลมฺ — ผลบุญ, ปฺรทิษฺฏมฺ — แสดง, อเตฺยติ — ข้ามพ้น, ตตฺ สรฺวมฺ — เหล่านี้ทั้งหมด, อิทมฺ — นี้, วิทิตฺวา — รู้, โยคี — สาวก, ปรมฺ — สูงสุด, สฺถานมฺ — พระตำหนัก, อุไปติ — บรรลุ, — เช่นกัน, อาทฺยมฺ — เดิม

คำแปล

บุคคลผู้รับเอาวิถีแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้มาปฏิบัติจะไม่สูญเสียผลที่ได้รับจากการศึกษาคัมภีร์พระเวท ปฏิบัติพิธีบูชา ปฏิบัติความเพียร ให้ทาน หรือแสวงหาปรัชญาความรู้และกิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุ เพียงแต่ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้เขาจะบรรลุถึงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด และในที่สุดจะบรรลุถึงพระตำหนักนิรันดรสูงสุด

คำอธิบาย

โศลกนี้เป็นการสรุปบทที่เจ็ดและบทที่แปดซึ่งพูดถึงกฺฤษฺณจิตสำนึกและการอุทิศตนเสียสละรับใช้โดยเฉพาะ เราต้องศึกษาคัมภีร์พระเวทภายใต้การนำของพระอาจารย์ทิพย์ ปฏิบัติสมถะ และบำเพ็ญเพียรอย่างมากในขณะที่อยู่ภายใต้การดูแลของพระอาจารย์ ผู้เป็น พฺรหฺมจารี (เณร)จะต้องอยู่ในบ้านของพระอาจารย์ทิพย์เหมือนเป็นผู้รับใช้และต้องออกไปภิกขาจารตามบ้าน นำสิ่งของมาให้พระอาจารย์ รับประทานอาหารตามคำสั่งของพระอาจารย์เท่านั้น หากพระอาจารย์ละเลยไม่เรียกศิษย์มารับประทาน ศิษย์ก็จะต้องอดอาหารในวันนั้น สิ่งเหล่านี้คือหลักธรรมพระเวทบางประการที่ พฺรหฺมจรฺย ฝึกปฏิบัติ

หลังจากศิษย์ศึกษาคัมภีร์พระเวทอยู่กับพระอาจารย์ จากอายุห้าปีจนถึงอายุยี่สิบปีเขาอาจกลายมาเป็นสุภาพบุรุษผู้มีบุคลิกที่สมบูรณ์ การศึกษาคัมภีร์พระเวทมิใช่เป็นการพักผ่อนหย่อนใจเหมือนนักคาดคะเนที่นั่งบนเก้าอี้นวม แต่เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงบุคลิก หลังจากได้รับการฝึกฝนเช่นนี้ พฺรหฺมจารี จะได้รับอนุญาตให้ไปแต่งงานและใช้ชีวิตคฤหัสถ์ เมื่อเป็นคฤหัสถ์เขาต้องปฏิบัติการบูชาต่างๆเพื่อบรรลุถึงความรู้แจ้งยิ่งขึ้น และต้องให้ทานตามกาลเวลา สถานที่ และตามผู้ปรารถนา โดยรู้จักแยกแยะระหว่างการให้ทานในความดี ในตัณหา และอวิชชาดังที่ได้อธิบายไว้ใน ภควัท-คีตา หลังจากเกษียณจากชีวิตคฤหัสถ์เมื่อรับเอาระดับของ วานปฺรสฺถ มาปฏิบัติ เขาจะบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งครัดไปอยู่ในป่า นุ่งห่มด้วยใบไม้ ไม่โกนหนวดเครา เป็นต้น จากการรับเอาระดับ พฺรหฺมจรฺย, คฤหัสถ์, วานปฺรสฺถ และในที่สุด สนฺนฺยาส มาปฏิบัติเขาจะพัฒนาไปสู่ระดับชีวิตที่สมบูรณ์ บางคนพัฒนาไปยังอาณาจักรสวรรค์ และเมื่อเจริญมากยิ่งขึ้นจะได้รับอิสรภาพในท้องฟ้าทิพย์อาจอยู่ใน พฺรหฺม-โชฺยติรฺ ที่ไร้รูปลักษณ์ ในดาวเคราะห์ ไวกุณฺฐ หรือใน กฺฤษฺณโลก นี่คือวิถีทางที่วรรณกรรมพระเวทได้กำหนดไว้

อย่างไรก็ดีความสวยงามของกฺฤษฺณจิตสำนึกคือ จากการกระทำเพียงสิ่งเดียวด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้ เราสามารถข้ามพ้นพิธีกรรมต่างๆรวมทั้งระดับชีวิตต่างๆทั้งหมด

คำว่า อิทํ วิทิตฺวา แสดงให้เห็นว่าเราควรเข้าใจคำสั่งสอนที่ศฺรี กฺฤษฺณทรงให้ไว้ในบทนี้และบทที่เจ็ดของ ภควัท-คีตา เราควรพยายามเข้าใจบทเหล่านี้มิใช่แบบวิชาการหรือแบบคาดคะเนทางจิต แต่จากการสดับฟังในการคบหาสมาคมกับเหล่าสาวก บทที่หกถึงบทที่สิบสองเป็นสาระสำคัญของ ภควัท-คีตา หกบทแรกและหกบทสุดท้ายเหมือนกับปกหน้าและปกหลังที่ห่อหุ้มหกบทกลาง ซึ่งองค์ภควานฺทรงเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองโดยเฉพาะ หากใครโชคดีพอที่เข้าใจ ภควัท-คีตา โดยเฉพาะในหกบทกลางนี้ด้วยการคบหาสมาคมกับเหล่าสาวก ชีวิตของเขาจะได้รับการสรรเสริญเหนือการบำเพ็ญเพียร การทำพิธีบูชา การให้ทาน การคาดคะเนทั้งหลายทั้งปวง เป็นต้น เพราะเขาสามารถบรรลุถึงผลแห่งกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมดด้วยเพียงแต่ปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกเท่านั้น

ผู้ที่มีความศรัทธาบ้างใน ภควัท-คีตา ควรเรียนรู้ ภควัท-คีตา จากสาวก เพราะในตอนต้นของบทที่สี่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเหล่าสาวกเท่านั้นที่สามารถเข้าใจ ภควัท-คีตา ไม่มีผู้ใดเข้าใจจุดมุ่งหมายของ ภควัท-คีตา อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเราควรเรียนรู้ ภควัท-คีตา จากสาวกขององค์กฺฤษฺณมิใช่จากนักคาดคะเนทางจิต นี่คือลักษณะแห่งความศรัทธา หลังจากแสวงหาสาวกและในที่สุดได้มาคบสมาคมกับสาวกเมื่อนั้นจึงเริ่มต้นการศึกษาและเข้าใจ ภควัท-คีตา อย่างแท้จริง จากความเจริญก้าวหน้าในการไปคบหาสมาคมกับสาวกเขาถูกวางตัวในการอุทิศตนเสียสละ และการรับใช้นั้นจะปัดเป่าความสงสัยทั้งหลายที่ตนเองมีอยู่เกี่ยวกับองค์กฺฤษฺณ หรือองค์ภควานฺเกี่ยวกับกิจกรรม รูปลักษณ์ ลีลา พระนาม และสิ่งอื่นๆขององค์กฺฤษฺณ หลังจากความสงสัยทั้งหลายเหล่านี้ได้ถูกทำให้กระจ่างขึ้นโดยสมบูรณ์เขาตั้งมั่นในการศึกษา จากนั้นจะได้รับรสในการศึกษา ภควัท-คีตา และบรรลุถึงระดับแห่งความรู้สึกอยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกเสมอ ในระดับที่เจริญมากขึ้นเขาจะอยู่ในความรักกับองค์กฺฤษฺณโดยสมบูรณ์ ระดับแห่งความสมบูรณ์สูงสุดของชีวิตนี้สาวกจะย้ายไปยังพระตำหนักทิพย์ขององค์กฺฤษฺณในท้องฟ้าทิพย์ โคโลก วฺฤนฺทาวน สถานที่ที่สาวกมีความสุขนิรันดร

ดังนั้นได้จบคำอธิบายโดย ภักดีเวดานตะ บทที่แปด ของหนังสือ ศฺรีมทฺ ภควัท-คีตาในหัวข้อเรื่อง การบรรลุถึงองค์ภควาน