ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

คำนำจากผู้จัดพิมพ์

ถึงแม้ว่าหนังสือ ภควัท-คีตา จะได้รับความนิยมจากการพิมพ์และการอ่านอย่างแพร่หลายเดิมทีเป็นตอนหนึ่งของ มหาภารต ซึ่งเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ภาษาสันสกฤตของโลกในอดีต มหาภารต จะกล่าวถึงสถานการณ์ซึ่งนำสู่ยุคปัจจุบันคือ กลิ-ยุค (กลียุค) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคนี้ได้ กลียุคได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณห้าพันปีก่อน องค์ศฺรี กฺฤษฺณทรงตรัส ภควัท-คีตา ให้แก่ อรฺชุน ผู้ทรงเป็นทั้งสหายและสาวกของพระองค์

การสนทนาครั้งนี้เป็นการสนทนาปรัชญาและธรรมะอันยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยรู้จักมาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นก่อนเกิดสงครามอย่างรุนแรงในราชวงศ์ กฺษตฺริย ระหว่างโอรสหนึ่งร้อยองค์ของ ธฺฤตราษฺฏฺร และฝ่ายตรงข้าม ปาณฺฑว โอรสของ ปาณฺฑุ ผู้ซึ่งเป็นญาติกัน

ธฺฤตราษฺฏฺร และ ปาณฺฑุ ทรงเป็นพี่น้องกันประสูติในราชวงศ์ กุรุ สืบเชื้อสายมาจากพระราชา ภรต (ภา-ระ-ตะ) ผู้ทรงปกครองโลก ในอดีตพระนาม มหาภารต มาจากพระราชาองค์นี้ เนื่องจาก ธฺฤตราษฺฏฺร ทรงเป็นพระเชษฐาประสูติมามีพระเนตรพิการบัลลังก์ซึ่งควรจะเป็นของพระองค์จึงตกมาเป็นของพระอนุชา ปาณฺฑุ

เมื่อ ปาณฺฑุ สวรรคตในขณะที่พระชันษายังไม่มากนัก โอรสห้าพระองค์คือ ยุธิษฺฐิร ภีม อรฺชุน นกุล และ สหเทว ทรงได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ธฺฤตราษฺฏฺร ผู้ทรงขึ้นครองราชย์แทน ปาณฺฑุ ดังนั้นพระโอรสของ ธฺฤตราษฺฏฺร และพระโอรสของ ปาณฺฑุ ทรงเจริญเติบโตในพระราชวังเดียวกัน ทั้งสองราชวงศ์ได้รับการฝึกฝนศิลปะการทําศึกสงครามจากพระอาจารย์ผู้ชํานาญ โทฺรณ และมีพระอัยกา ภีษฺม ที่เคารพนับถือเป็นผู้ให้คําปรึกษา

แต่พระโอรสของ ธฺฤตราษฺฏฺร โดยเฉพาะโอรสองค์แรก ทุโรฺยธน ทรงมีความเกลียดชังและอิจฉา ปาณฺฑว ธฺฤตราษฺฏฺร ผู้ทรงมีพระเนตรบอดและจิตใจอ่อนแอทรงประสงค์ให้โอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทน ปาณฺฑว

เมื่อได้รับอนุญาตจาก ธฺฤตราษฺฏฺร ทุโรฺยธน จึงวางแผนสังหารโอรสทั้งหมดของ ปาณฺฑุ แต่เสด็จอา วิทุร และองค์กฺฤษฺณผู้ทรงเป็นพระญาติคอยระวังและปกป้อง ปาณฺฑว จึงรอดพ้นจากการลอบปลงพระชนม์หลายครั้ง

ศฺรี กฺฤษฺณทรงมิใช่บุคคลธรรมดาสามัญ แต่ทรงเป็นองค์ภควานฺ เสด็จลงมาบนโลกนี้และทรงแสดงบทบาทเป็นเจ้าชายร่วมสมัย ในบทบาทนี้เองพระองค์ทรงเป็นหลานของพระนาง กุนฺตี หรือพระนาง ปฺฤถา มเหสีของ ปาณฺฑุ และพระมารดาของ ปาณฺฑว ดังนั้นทั้งสองพระองค์ทรงเป็นญาติกัน และทรงเป็นผู้ทํานุบํารุงศาสนานิรันดร องค์กฺฤษฺณทรงโปรดโอรสของ ปาณฺฑุ ผู้ทรงคุณธรรมจึงทรงให้ความคุ้มครองแก่เหล่าพระองค์

ในที่สุด ทุโรฺยธน ผู้ฉลาดแกมโกงทรงท้าทาย ปาณฺฑว ให้เล่นเกมการพนัน ในการเล่มเกมแห่งโชคชะตาในครั้งนั้น ทุโรฺยธน และพระอนุชาได้เข้าครอบครองพระนาง เทฺราปที พระชายาผู้บริสุทธิ์และจงรักภักดีของ ปาณฺฑว พระนางทรงตกเป็นเหยื่อจากการพนันในครั้งนั้น โดยโดนดูถูกด้วยการพยายามเปลื้องผ้านางต่อหน้าที่ชุมนุมของเจ้าชายและกษัตริย์ทั้งหลาย ด้วยพลังอํานาจทิพย์ขององค์กฺฤษฺณ ได้ช่วยพระนาง เทฺราปที แต่การพนันที่มีแผนฉ้อโกงไว้ล่วงหน้าจึงได้มีการโกงเอาราชอาณาจักรของ ปาณฺฑว และเนรเทศโอรสของ ปาณฺฑุ ทั้งห้าให้ไปอยู่ในป่าเป็นเวลาสิบสามปี

หลังจากพ้นกําหนดการเนรเทศ ปาณฺฑว ทรงขอราชอาณาจักรที่ซึ่งเป็นสิทธิ์ของพวกตนที่ควรจะได้รับ แต่ ทุโรฺยธน ทรงปฏิเสธอย่างไม่ใยดี ในฐานะที่เป็นโอรสกษัตริย์จึงทรงมีหน้าที่ที่จะต้องรับใช้ด้วยการปกครองบ้านเมือง ปาณฺฑว ทั้งห้าจึงทรงขอเพียงห้าหมู่บ้านมาปกครอง แต่ ทุโรฺยธน ทรงปฏิเสธอย่างยโสโอหังว่าจะไม่ให้แม้แต่ที่ดินที่พอที่จะเอาไปไว้ปักเข็มได้

หลังจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ปาณฺฑว ก็พยายามอดทนมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าสงครามอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว

อย่างไรก็ดีขณะที่เจ้าชายต่างๆในโลกต่างแบ่งพวกกันบ้างไปร่วมกับโอรสของ ธฺฤตราษฺฏฺร บ้างไปร่วมกับ ปาณฺฑว องค์กฺฤษฺณทรงแสดงบทบาทเป็นทูตสันติภาพให้โอรสของ ปาณฺฑุ ด้วยพระองค์เอง โดยเสด็จไปที่ราชสํานักของ ธฺฤตราษฺฏฺร ได้ทรงเจรจาโดยสันติวิธีเพื่อสงบศึก แต่เมื่อคําขอร้องขององค์กฺฤษฺณทรงถูกปฏิเสธ สงครามจึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ปาณฺฑว ผู้มีคุณธรรมอันสูงส่งทรงทราบดีว่าองค์กฺฤษฺณคือ บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ขณะที่ผู้มีบาปหนาเยี่ยงเหล่าโอรสของ ธฺฤตราษฺฏฺร ไม่เชื่อเช่นนั้น ถึงกระนั้นองค์กฺฤษฺณทรงเสนอที่จะร่วมรบด้วยตามที่คู่ปฏิปักษ์ต้องการ ในฐานะที่องค์กฺฤษฺณทรงเป็นองค์ภควานฺจะไม่รบด้วยพระองค์เอง หากฝ่ายใดต้องการจะได้กองทัพของพระองค์ไปอีกฝ่ายหนึ่งก็จะได้องค์กฺฤษฺณไปเป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วย ทุโรฺยธน ทรงเป็นอัจฉริยะภาพทางการเมืองจึงเลือกเอากองทัพขององค์กฺฤษฺณ ขณะที่ ปาณฺฑว ทรงยินดีอย่างมากที่จะได้องค์ศฺรี กฺฤษฺณมาอยู่ฝ่ายของพวกตน

ด้วยเหตุนี้องค์กฺฤษฺณจึงทรงไปเป็นสารถีของ อรฺชุน และรับเอาราชรถศึกมาขับ นี่คือจุดกําเนิดของ ภควัท-คีตา ขณะที่กองทัพทั้งสองฝ่ายเรียงรายกันเป็นทิวแถวพร้อมรบ ธฺฤตราษฺฏฺร ตรัสถาม สญฺชย เลขาของพระองค์อย่างสนพระทัยว่า “พวกเขากําลังทําอะไรกัน”

โครงเรื่องได้วางไว้เรียบร้อยแล้ว คราวนี้จะกล่าวถึงการแปลและการอธิบายโดยย่อ

โดยทั่วไปผู้ที่แปล ภควัท-คีตา เป็นภาษาอังกฤษจะนำเอาพระองค์เจ้ากฺฤษฺณออกห่าง เพื่อที่ตนเองจะได้เสนอแนวคิดและแนวปรัชญาว่าประวัติศาสตร์ มหาภารต ถูกนำไปเป็นเพียงนวนิยายโบราณประหลาดๆ และพระองค์เจ้ากฺฤษฺณทรงเป็นเพียงเครื่องมือทางกวีนิพนธ์เพื่อที่จะเสนอแนวคิดแห่งอัจฉริยภาพของตนเอง หรืออย่างดีองค์กฺฤษฺณก็ทรงเป็นเพียงตัวประกอบทางประวัติศาสตร์เท่านั้น

แต่องค์กฺฤษฺณทรงเป็นทั้งแก่นสารและจุดมุ่งหมายที่สําคัญของ ภควัท-คีตา ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวของมันเอง

การแปลและอธิบายหนังสือเล่มนี้จะนําผู้อ่านมุ่งตรงไปหาองค์กฺฤษฺณ แทนที่จะนําเราออกห่างจากพระองค์ภควัท-คีตา ทั้งเล่มนี้จึงมีความสม่ำเสมอ และเข้าใจได้เนื่องจากองค์กฺฤษฺณทรงเป็นผู้ตรัสและทรงเป็นเป้าหมายสูงสุด ภควัท-คีตา ฉบับเดิม เล่มนี้จึงถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ตามความเป็นจริง

ผู้จัดพิมพ์