ภควัท-คีตา ฉบับเดิม

บทที่ สิบห้า

โยคะแห่งองค์ภควานฺ

SIMPLE

โศลก 1

śrī-bhagavān uvāca
ūrdhva-mūlam adhaḥ-śākham
aśvatthaṁ prāhur avyayam
chandāṁsi yasya parṇāni
yas taṁ veda sa veda-vit
ศฺรี-ภควานฺ อุวาจ
อูรฺธฺว-มูลมฺ อธห์-ศาขมฺ
อศฺวตฺถํ ปฺราหุรฺ อวฺยยมฺ
ฉนฺทำสิ ยสฺย ปรฺณานิ
ยสฺ ตํ เวท ส เวท-วิตฺ
ศฺรี-ภควานฺ อุวาจ — บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าตรัส, อูรฺธฺว-มูลมฺ — ด้วยรากอยู่ข้างบน, อธห์ — ลงข้างล่าง, ศาขมฺ — แยกแขนง, อศฺวตฺถมฺ — ต้นไทร, ปฺราหุห์ — กล่าวไว้ว่า, อวฺยยมฺ — อมตะ, ฉนฺทำสิ — ในบทมนต์พระเวท, ยสฺย — ซึ่ง, ปรฺณานิ — ใบ, ยห์ — ผู้ใด ซึ่ง, ตมฺ — นั้น, เวท — รู้, สห์ — เขา, เวท-วิตฺ — ผู้รู้พระเวท

คำแปล

บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงตรัสว่า มีการกล่าวไว้ว่ามีต้นไทรที่ไม่มีวันตาย มีรากขึ้นข้างบน และกิ่งก้านสาขาลงข้างล่าง มีใบคือ บทมนต์พระเวท ผู้รู้ต้นไม้นี้คือ ผู้รู้คัมภีร์พระเวท

คำอธิบาย

หลังจากที่ได้สนทนากันถึงความสำคัญของ ภกฺติ-โยค อาจมีคำถามขึ้นมาว่า “คัมภีร์พระเวทคืออะไร” ได้อธิบายในบทนี้ว่า จุดมุ่งหมายของการศึกษาคัมภีร์พระเวทคือการมาเข้าใจองค์กฺฤษฺณ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึก หรือผู้ปฏิบัติในการอุทิศตนเสียสละรับใช้เป็นผู้รู้คัมภีร์พระเวทเรียบร้อยแล้ว

การพันธนาการของโลกวัตถุนี้เปรียบเทียบกับต้นไทรไว้ ที่นี้ สำหรับผู้ปฏิบัติกิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุต้นไทรนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เขาจะเดินทางจากกิ่งก้านหนึ่งไปสู่อีกกิ่งก้านหนึ่งและไปยังอีกกิ่งก้านหนึ่ง ต้นไม้แห่งธรรมชาติวัตถุนี้ไม่มีจุดจบ และผู้ที่ยึดติดกับต้นไม้นี้จะไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้ บทมนต์พระเวทที่หมายไว้เพื่อพัฒนาตัวเราเป็นใบของต้นไม้นี้ รากของต้นงอกขึ้นข้างบน เนื่องจากรากเหล่านี้เริ่มจากสถานที่ที่พระพรหมทรงประทับอยู่ซึ่งเป็นดาวเคราะห์สูงสุดแห่งจักรวาลนี้ หากผู้ใดสามารถเข้าใจต้นไม้แห่งความหลงที่ไม่มีวันถูกทำลายนี้ เขาจึงสามารถออกไปจากมันได้

เราควรเข้าใจวิธีการแก้เพื่อให้หลุดพ้น ในบทก่อนๆได้มีการอธิบายไว้ว่ามีหลายวิธีที่จะทำให้เราหลุดออกไปจากพันธนาการทางวัตถุจนกระทั่งมาถึงบทที่สิบสามเราพบว่าการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺเป็นวิธีที่ดีที่สุด บัดนี้หลักพื้นฐานแห่งการอุทิศตนเสียสละรับใช้คือการไม่ยึดติดกับกิจกรรมทางวัตถุและมายึดมั่นกับการรับใช้ทิพย์ต่อพระองค์วิธีการที่จะตัดการยึดติดกับโลกวัตถุได้กล่าวไว้ในตอนต้นของบทนี้ รากแห่งความเป็นอยู่ทางวัตถุนี้งอกขึ้นข้างบนเช่นนี้หมายความว่า เริ่มจากแก่นสารทางวัตถุมวลรวมจากดาวเคราะห์สูงสุดแห่งจักรวาล และจากที่นั่นจักรวาลทั้งหมดขยายออกด้วยสาขาที่แยกแขนงออกมากมายซึ่งมาเป็นระบบดาวเคราะห์ต่างๆ ผลทางวัตถุที่ได้รับคือผลลัพธ์แห่งกิจกรรมต่างๆของสิ่งมีชีวิต เช่น การศาสนา การพัฒนาเศรษฐกิจ การสนองประสาทสัมผัส และความหลุดพ้น

ในโลกนี้ไม่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขาแยกแขนงลงข้างล่างและมีรากขึ้นข้างบน ต้นไม้ชนิดนี้พบได้ที่ขอบสระน้ำ เราสามารถเห็นต้นไม้นี้สะท้อนอยู่ในน้ำมีกิ่งก้านสาขาแยกลงข้างล่างและรากขึ้นข้างบน อีกนัยหนึ่งต้นไม้แห่งโลกวัตถุนี้เป็นเพียงภาพสะท้อนของต้นไม้จริงในโลกทิพย์ การสะท้อนของโลกทิพย์นี้สถิตอยู่ในความปรารถนาเหมือนกับการสะท้อนของต้นไม้สถิตอยู่ในน้ำ ความปรารถนาหรือความต้องการเป็นต้นเหตุของสิ่งต่างๆที่สถิตในแสงแห่งวัตถุที่สะท้อนมานี้ ผู้ที่ปรารถนาจะออกไปจากความเป็นอยู่ทางวัตถุต้องรู้ถึงต้นไม้นี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ด้วยการวิเคราะห์ศึกษาเราจึงสามารถตัดความสัมพันธ์จากมันออกไปได้

ต้นไม้ที่เป็นภาพสะท้อนจากของจริงนี้ถอดแบบออกมาเหมือนกันทุกอย่าง มีทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกทิพย์ พวกที่ไม่เชื่อในรูปลักษณ์คิดว่า พฺรหฺมนฺ เป็นรากของต้นไม้วัตถุนี้ ตามปรัชญา สางฺขฺย กล่าวว่าจากรากนี้ ปฺรกฺฤติ, ปุรุษ ออกมา จากนั้นสาม คุณ ออกมา จากนั้นธาตุหยาบทั้งห้า (ปญฺจ-มหา-ภูต) ออกมา จากนั้นประสาทสัมผัสทั้งสิบ (ทเศนฺทฺริย) จิตใจ ฯลฯ เช่นนี้พวกเขาแบ่งโลกวัตถุทั้งหมดเป็นยี่สิบสี่ธาตุหาก พฺรหฺมนฺ เป็นศูนย์กลางของปรากฏการณ์ทั้งหมดโลกวัตถุนี้ก็เป็นปรากฏการณ์ของศูนย์กลาง 180 องศา และอีก 180 องศาเป็นโลกทิพย์ โลกวัตถุเป็นภาพสะท้อนที่กลับตาลปัตร ดังนั้นโลกทิพย์จะต้องมีความหลากหลายเช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริง ปฺรกฺฤติ เป็นพลังงานเบื้องต่ำขององค์ภควานฺ และ ปุรุษ คือตัวองค์ภควานฺ นั่นคือคำอธิบายใน ภควัท-คีตา เนื่องจากปรากฏการณ์นี้เป็นวัตถุจึงไม่ถาวรภาพสะท้อนไม่ถาวรเพราะว่าบางครั้งมองเห็น และบางครั้งมองไม่เห็นแต่ของแท้ที่ทำให้ได้ภาพสะท้อนมานั้นเป็นอมตะ ภาพสะท้อนวัตถุจากต้นไม้จริงจะต้องถูกตัดออก เมื่อกล่าวว่าบุคคลรู้คัมภีร์พระเวทหมายความว่าเขารู้ว่า จะตัดการยึดติดกับโลกวัตถุนี้ให้ออกไปได้อย่างไร หากรู้วิธีการนี้เขาเป็นผู้รู้คัมภีร์พระเวทโดยแท้จริง ผู้ที่หลงใหลอยู่กับสูตรพิธีกรรมต่างๆของพระเวทเท่ากับหลงอยู่กับใบสีเขียวอันสวยงามของต้นไม้โดยไม่รู้จุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวทอย่างแท้จริง จุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวทเหมือนดังที่บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงเปิดเผยคือ ให้ตัดภาพสะท้อนของต้นไม้นี้ออกและบรรลุถึงต้นไม้ที่แท้จริงแห่งโลกทิพย์

โศลก 2

adhaś cordhvaṁ prasṛtās tasya śākhā
guṇa-pravṛddhā viṣaya-pravālāḥ
adhaś ca mūlāny anusantatāni
karmānubandhīni manuṣya-loke
อธศฺ โจรฺธฺวํ ปฺรสฺฤตาสฺ ตสฺย ศาขา
คุณ-ปฺรวฺฤทฺธา วิษย-ปฺรวาลาห์
อธศฺ จ มูลานฺยฺ อนุสนฺตตานิ
กรฺมานุพนฺธีนิ มนุษฺย-โลเก
อธห์ — ลงข้างล่าง, — และ, อูรฺธฺวมฺ — ขึ้นข้างบน, ปฺรสฺฤตาห์ — ขยายออก, ตสฺย — ของมัน, ศาขาห์ — แยกแขนง, คุณ — โดยระดับต่างๆของธรรมชาติวัตถุ, ปฺรวฺฤทฺธาห์ — พัฒนา, วิษย — อาตยนะภายนอก, ปฺรวาลาห์ — กิ่งก้าน, อธห์ — ลงข้างล่าง, — และ, มูลานิ — ราก, อนุสนฺตตานิ — ขยาย, กรฺม — งาน, อนุพนฺธีนิ — ผูกมัด, มนุษฺย-โลเก — ในโลกของสังคมมนุษย์

คำแปล

สาขาของต้นไม้นี้แตกแขนงลงข้างล่างและขึ้นข้างบน บำรุงเลี้ยงด้วยสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ กิ่งก้านคืออายตนะภายนอก ต้นไม้นี้มีรากลงข้างล่างเช่นเดียวกัน และถูกพันธนาการอยู่ในการกระทำเพื่อผลทางวัตถุของสังคมมนุษย์

คำอธิบาย

ได้อธิบายถึงต้นไทรนี้ต่อไปอีกว่ามีสาขาแยกแขนงออกไปทุกทิศทาง ในส่วนล่างมีปรากฏการณ์อันหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เช่น มนุษย์ สัตว์ ม้า วัว สุนัข แมว ฯลฯ ชีวิตเหล่านี้สถิตในส่วนล่างขณะที่ส่วนบนเป็นรูปของสิ่งมีชีวิตที่สูงกว่า เช่น เทวดา คนฺธรฺว และเผ่าพันธุ์ชีวิตอื่นๆที่สูงกว่ามากมาย เหมือนกับต้นไม้ที่ได้รับการบำรุงเลี้ยงจากน้ำต้นไม้นี้ก็จะได้รับการบำรุงเลี้ยงจากสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ บางครั้งเราพบว่าที่ดินผืนนี้แห้งแล้งเนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอ และบางครั้งเราพบว่าที่ดินอีกผืนหนึ่งมีความเขียวชอุ่มมาก ในทำนองเดียวกันสถานที่ที่ระดับแห่งธรรมชาติวัตถุใดมีอัตราส่วนในปริมาณมากกว่าเผ่าพันธุ์ชีวิตต่างๆในระดับนั้นก็ปรากฏ

กิ่งก้านของต้นไม้พิจารณาว่าเป็นอายตนะภายนอก จากการพัฒนาระดับต่างๆแห่งธรรมชาติเราจะพัฒนาประสาทสัมผัสต่างๆ และจากประสาทสัมผัสเราได้รับความสุขอันหลากหลายจากอายตนะภายนอก ยอดของสาขาต่างๆคือ ประสาทสัมผัส เช่น หู จมูก ตา ฯลฯ ซึ่งยึดติดอยู่กับความเพลิดเพลินกับอายตนะภายนอก กิ่งก้านคืออายตนะภายนอก เช่น เสียง รูป สัมผัส ฯลฯ รากรองคือความยึดติดและความเกลียดชัง ซึ่งเป็นผลพลอยได้ของความทุกข์และความสุขทางประสาทสัมผัสอันหลากหลาย แนวโน้มที่จะเป็นคนใจบุญหรือเป็นคนใจบาปพิจารณาว่าพัฒนาจากรากรองเหล่านี้ซึ่งแผ่ขยายไปทุกทิศทาง รากอันแท้จริงมาจาก พฺรหฺมโลก และรากอื่นๆอยู่ในระบบดาวเคราะห์มนุษย์ หลังจากรื่นเริงกับผลบุญที่ได้ไปอยู่ในระบบดาวเคราะห์ที่สูงกว่าแล้วเขาจะตกลงมาในโลกนี้ และสร้างกรรมหรือกิจกรรมเพื่อผลทางวัตถุต่อไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ ดาวเคราะห์ของมนุษย์นี้พิจารณาว่าเป็นสนามแห่งกิจกรรม

โศลก 3-4

na rūpam asyeha tathopalabhyate
nānto na cādir na ca sampratiṣṭhā
aśvattham enaṁ su-virūḍha-mūlam
asaṅga-śastreṇa dṛḍhena chittvā
น รูปมฺ อเสฺยห ตโถปลภฺยเต
นานฺโต น จาทิรฺ น จ สมฺปฺรติษฺฐา
อศฺวตฺถมฺ เอนํ สุ-วิรูฒ-มูลมฺ
อสงฺค-ศเสฺตฺรณ ทฺฤเฒน ฉิตฺตฺวา
tataḥ padaṁ tat parimārgitavyaṁ
yasmin gatā na nivartanti bhūyaḥ
tam eva cādyaṁ puruṣaṁ prapadye
yataḥ pravṛttiḥ prasṛtā purāṇī
ตตห์ ปทํ ตตฺ ปริมารฺคิตวฺยํ
ยสฺมินฺ คตา น นิวรฺตนฺติ ภูยห์
ตมฺ เอว จาทฺยํ ปุรุษํ ปฺรปเทฺย
ยตห์ ปฺรวฺฤตฺติห์ ปฺรสฺฤตา ปุราณี
— ไม่, รูปมฺ — รูปลักษณ์, อสฺย — ของต้นไม้นี้, อิห — ในโลกนี้, ตถา — เช่นกัน, อุปลภฺยเต — สามารถสำเหนียกได้, — ไม่เคย, อนฺตห์ — จบ, — ไม่เคย, — เช่นกัน, อาทิห์ — เริ่มต้น, — ไม่เคย, — เช่นกัน, สมฺปฺรติษฺฐา — รากฐาน, อศฺวตฺถมฺ — ต้นไทร, เอนมฺ — นี้, สุ-วิรูฒ — แข็งแรง, มูลมฺ — ราก, อสงฺค-ศเสฺตฺรณ — ด้วยอาวุธแห่งความไม่ยึดติด, ทฺฤเฒน — แข็งแรง, ฉิตฺตฺวา — ตัด, ตตห์ — หลังจากนั้น, ปทมฺ — สถานการณ์, ตตฺ — นั้น, ปริมารฺคิตวฺยมฺ — ต้องค้นหา, ยสฺมินฺ — ที่ซึ่ง, คตาห์ — ไป, — ไม่เคย, นิวรฺตนฺติ — พวกเขากลับมา, ภูยห์ — อีกครั้ง, ตมฺ — ถึงพระองค์, เอว — แน่นอน, — เช่นกัน, อาทฺยมฺ — แหล่งกำเนิด, ปุรุษมฺ — องค์ภควาน, ปฺรปเทฺย — ศิโรราบ, ยตห์ — จากผู้ซึ่ง, ปฺรวฺฤตฺติห์ — เริ่มต้น, ปฺรสฺฤตา — ขยายออกไป, ปุราณิ — โบราณมาก

คำแปล

รูปลักษณ์อันแท้จริงของต้นไม้นี้สำเหนียกไม่ได้ในโลกนี้ ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าใจว่ามันจบลงที่ใด เริ่มต้นจากที่ใด หรือรากฐานอยู่ที่ไหนแต่ด้วยความมุ่งมั่น เขาต้องตัดต้นไม้ที่ฝังรากลึกอย่างแข็งแกร่งนี้ด้วยอาวุธแห่งการไม่ยึดติด ดังนั้นเขาต้องแสวงหาสถานที่ที่เมื่อไปถึงแล้วจะไม่กลับมาอีก ที่นั้นเขาศิโรราบต่อบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าซึ่งเป็นผู้เริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกสิ่งทุกอย่างขยายออกมาจากพระองค์ตั้งแต่กาลสมัยดึกดำบรรพ์

คำอธิบาย

บัดนี้ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่ารูปลักษณ์อันแท้จริงของต้นไทรนี้ไม่สามารถเข้าใจได้ในโลกวัตถุ เนื่องจากรากของมันขึ้นข้างบนและการแผ่ขยายของต้นไม้จริงอยู่อีกด้านหนึ่ง เมื่อถูกพันธนาการด้วยการแพร่ขยายทางวัตถุของต้นไม้เราจึงไม่สามารถเห็นได้ว่าต้นไม้นี้ขยายออกไปไกลเท่าใด และก็ไม่สามารถเห็นจุดเริ่มต้นของต้นไม้นี้ ถึงกระนั้นเราต้องค้นหาสาเหตุว่า “ข้าเป็นบุตรของบิดา บิดาข้าเป็นบุตรของบุคคลคนนี้ เป็นต้น” จากการค้นหาเช่นนี้จะมาถึงพระพรหมผู้ซึ่ง ครฺโภทก-ศายี วิษฺณุ ทรงเป็นผู้ให้กำเนิด ในที่สุดเมื่อมาถึงองค์ภควานฺงานวิจัยก็เสร็จสิ้น เราต้องค้นหาบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าผู้ทรงเป็นแหล่งกำเนิดของต้นไม้นี้ด้วยการคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความรู้แห่งองค์ภควานฺนั้น จากความเข้าใจจะทำให้เราค่อยๆไม่ยึดติดกับภาพสะท้อนที่ผิดซึ่งไม่ใช่ของจริง จากความรู้นี้จึงสามารถตัดขาดความสัมพันธ์กับมันและสถิตอย่างแท้จริงในต้นไม้จริง

คำว่า อสงฺค มีความสำคัญมากในประเด็นนี้เพราะว่าการยึดติดกับความรื่นเริงทางประสาทสัมผัส และความเป็นเจ้าเหนือธรรมชาติวัตถุมีความแข็งแกร่งมาก ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้การไม่ยึดติดด้วยการสนทนาศาสตร์ทิพย์ซึ่งมีพื้นฐานอยู่ที่พระคัมภีร์ที่เชื่อถือได้ และต้องสดับฟังจากบุคคลผู้อยู่ในความรู้จริงๆ จากผลของการสนทนาในการคบหาสมาคมกับเหล่าสาวกเช่นนี้เราจะมาถึงบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า สิ่งแรกที่ต้องกระทำคือศิโรราบต่อพระองค์การบรรยายถึงสถานที่ซึ่งเมื่อไปถึงแล้วจะไม่กลับมายังภาพสะท้อนของต้นไม้ที่ผิดๆนี้อีก ได้บอกไว้ ที่นี้ว่าองค์ภควานฺ กฺฤษฺณทรงเป็นรากเดิมแท้ที่ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏออกมา เพื่อให้พระองค์ทรงพระกรุณาเราต้องศิโรราบอย่างเดียว และนี่คือผลแห่งการปฏิบัติอุทิศตนเสียสละรับใช้ ด้วยการสดับฟัง การสวดภาวนา ฯลฯ พระองค์ทรงเป็นแหล่งกำเนิดแห่งการแผ่ขยายของโลกวัตถุซึ่งพระองค์ทรงอธิบายไว้แล้วว่า อหํ สรฺวสฺย ปฺรภวห์ “ข้าคือแหล่งกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง” ฉะนั้นในการออกจากพันธนาการของต้นไทรแห่งชีวิตวัตถุที่แข็งแกร่งนี้ เราต้องศิโรราบต่อองค์กฺฤษฺณ ทันทีที่ศิโรราบต่อองค์กฺฤษฺณเราจะไม่ยึดติดกับการแผ่ขยายทางวัตถุนี้โดยปริยาย

โศลก 5

nirmāna-mohā jita-saṅga-doṣā
adhyātma-nityā vinivṛtta-kāmāḥ
dvandvair vimuktāḥ sukha-duḥkha-saṁjñair
gacchanty amūḍhāḥ padam avyayaṁ tat
นิรฺมาน-โมหา ชิต-สงฺค-โทษา
อธฺยาตฺม-นิตฺยา วินิวฺฤตฺต-กามาห์
ทฺวนฺไทฺวรฺ วิมุกฺตาห์ สุข-ทุห์ข-สํชฺไญรฺ
คจฺฉนฺตฺยฺ อมูฒาห์ ปทมฺ อวฺยยํ ตตฺ
นิห์ — ปราศจาก, มาน — เกียรติยศที่ผิด, โมหาห์ — และความหลง, ชิต — เอาชนะ, สงฺค — การคบหาสมาคม, โทษาห์ — ความผิด, อธฺยาตฺม — ในความรู้ทิพย์, นิตฺยาห์ — ในความเป็นอมตะ, วินิวฺฤตฺต — ไม่คบหาสมาคม, กามาห์ — จากราคะ, ทฺวนฺไทฺวห์ — จากสิ่งคู่, วิมุกฺตาห์ — หลุดพ้น, สุข-ทุห์ข — ความสุขและความทุกข์, สํชฺไญห์ — ชื่อ, คจฺฉนฺติ — บรรลุ, อมูฒาห์ — ไม่สับสน, ปทมฺ — สถานการณ์, อวฺยยมฺ — อมตะ, ตตฺ — นั้น

คำแปล

พวกที่เป็นอิสระจากเกียรติยศที่ผิด ความหลง และการคบหาสมาคมที่ผิด ผู้ที่เข้าใจความเป็นอมตะ จบสิ้นกับราคะทางวัตถุ ผู้เป็นอิสระจากสิ่งคู่แห่งความสุขและความทุกข์ ไม่สับสน รู้ว่าจะศิโรราบต่อองค์ภควานอย่างไร จะบรรลุถึงอาณาจักรอมตะนั้น

คำอธิบาย

วิธีการศิโรราบได้อธิบายไว้อย่างสวยงาม ที่นี้ว่า เราไม่ควรหลงอยู่กับความหยิ่งยะโส เนื่องจากพันธวิญญาณผยองคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าแห่งธรรมชาติวัตถุจึงเป็นการยากมากที่จะศิโรราบต่อบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า จากการพัฒนาความรู้ที่แท้จริงเราควรรู้ว่าตัวเราไม่ใช่เจ้าแห่งธรรมชาติวัตถุ องค์ภควานฺทรงเป็นเจ้าของ เมื่อเป็นอิสระจากความหลงอันเนื่องมาจากความหยิ่งยะโสเราจะสามารถเริ่มวิธีการศิโรราบ สำหรับผู้ที่คาดหวังเกียรติยศบางอย่างในโลกวัตถุนี้เสมอจะเป็นไปไม่ได้ที่จะศิโรราบต่อองค์ภควานฺ ความหยิ่งยะโสก็เนื่องมาจากความหลง ถึงแม้ว่าเรามาที่นี่อยู่เพียงระยะเวลาสั้นแล้วต้องจากไปเราก็ยังมีความเห็นอย่างโง่ๆว่า เราคือเจ้าแห่งโลกนี้ ดังนั้นจึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่สับสนและมีปัญหาเสมอ โลกทั้งโลกหมุนไปภายใต้ความรู้สึกเช่นนี้ ผู้คนพิจารณาว่าแผ่นดินและโลกนี้เป็นของสังคมมนุษย์ และได้แบ่งที่ดินภายใต้ความรู้สึกผิดๆว่าพวกตนเป็นเจ้าของ เราต้องออกจากความเห็นที่ผิดนี้ว่าสังคมมนุษย์เป็นเจ้าของโลกใบนี้ เมื่อเป็นอิสระจากความเห็นผิดเช่นนี้เขาจึงจะเป็นอิสระจากการคบหาสมาคมจอมปลอมทั้งหลายที่เกิดมาจากความรักใคร่กับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ การคบหาสมาคมที่ผิดเหล่านี้ผูกมัดเราให้อยู่ในโลกวัตถุ หลังจากระดับนี้เราต้องพัฒนาความรู้ทิพย์ ซึ่งต้องพัฒนาความรู้ว่าอะไรเป็นของตนที่แท้จริงและอะไรไม่ใช่ของตนที่แท้จริง และเมื่อเข้าใจสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงก็จะเป็นอิสระจากแนวคิดที่เป็นสิ่งคู่ทั้งหลาย เช่น ความสุขและความทุกข์ ความรื่นเริงและความเจ็บปวด เราจะเปี่ยมไปด้วยความรู้ จากนั้นจึงจะเป็นไปได้ที่จะศิโรราบต่อบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า

โศลก 6

na tad bhāsayate sūryo
na śaśāṅko na pāvakaḥ
yad gatvā na nivartante
tad dhāma paramaṁ mama
น ตทฺ ภาสยเต สูโรฺย
น ศศางฺโก น ปาวกห์
ยทฺ คตฺวา น นิวรฺตนฺเต
ตทฺ ธาม ปรมํ มม
— ไม่, ตตฺ — นั้น, ภาสยเต — ส่องแสง, สูรฺยห์ — ดวงอาทิตย์, — ไม่, ศศางฺกห์ — ดวงจันทร์, — ไม่, ปาวกห์ — ไฟ, ไฟฟ้า, ยตฺ — ที่ไหน, คตฺวา — ไป, — ไม่, นิวรฺตนฺเต — พวกเขากลับมา, ตตฺ ธาม — สถานที่นั้น, ปรมมฺ — สูงสุด, มม — ของข้า

คำแปล

พระตำหนักสูงสุดของข้านั้นมิใช่สว่างไสวด้วยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไฟ หรือไฟฟ้า ผู้ที่ไปถึงที่นั่นจะไม่กลับมายังโลกวัตถุนี้อีก

คำอธิบาย

โลกทิพย์หรือพระตำหนักขององค์กฺฤษฺณบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้ามีชื่อว่า กฺฤษฺณโลก โคโลก วฺฤนฺทาวน ได้อธิบายไว้ ที่นี้ว่า ในท้องฟ้าทิพย์ไม่จำเป็นต้องมีแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แสงไฟ หรือไฟฟ้า เพราะว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดมีแสงสว่างอยู่ในตัว ในจักรวาลนี้มีดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีแสงอยู่ในตัวคือ ดวงอาทิตย์ แต่ดาวเคราะห์ในท้องฟ้าทิพย์ทั้งหมดมีแสงสว่างอยู่ในตัว รัศมีที่ส่องออกมาจากดาวเคราะห์ทั้งหมด (ไวกุณฺฐ) ประกอบกันเป็นท้องฟ้าที่เจิดจรัสเรียกว่า พฺรหฺม-โชฺยติรฺ อันที่จริงรัศมีได้สาดส่องออกมาจากดาวเคราะห์ขององค์กฺฤษฺณคือ โคโลก วฺฤนฺทาวน ส่วนหนึ่งของรัศมีที่สาดส่องออกมานั้นถูก มหตฺ-ตตฺตฺว หรือโลกวัตถุปกคลุม นอกนั้นส่วนใหญ่ของท้องฟ้าที่สาดแสงจะเต็มไปด้วยดาวเคราะห์ทิพย์เรียกว่า ไวกุณฺฐ ดวงที่สำคัญที่สุดคือ โคโลก วฺฤนฺทาวน

ตราบใดที่สิ่งมีชีวิตยังอยู่ในโลกวัตถุอันมืดมนนี้ เขาต้องติดอยู่ในชีวิตที่ถูกพันธนาการ แต่ทันทีที่ไปถึงท้องฟ้าทิพย์ด้วยการตัดต้นไม้ไม่จริงที่กลับตาลปัตรแห่งโลกวัตถุนี้ เขาจะเป็นอิสระและไม่มีโอกาสกลับมาที่นี่อีก ในชีวิตที่ถูกพันธนาการสิ่งมีชิวิตพิจารณาว่าตนเองเป็นเจ้าของแห่งโลกวัตถุนี้ แต่ในระดับหลุดพ้นเขาเข้าไปในอาณาจักรทิพย์และอยู่ใกล้ชิดกับองค์ภควานฺ ที่นั้นเขารื่นเริงอยู่กับความปลื้มปีติสุขนิรันดร มีชีวิตเป็นอมตะ และเปี่ยมไปด้วยความรู้

เราควรยินดีกับข้อมูลนี้และควรปรารถนาที่จะย้ายตนเองไปยังโลกอมตะนั้น เราควรแก้ไขตนเองให้หลุดพ้นจากภาพสะท้อนที่ผิดไปจากความจริงนี้ สำหรับผู้ที่ยึดติดมากอยู่กับโลกวัตถุการตัดจากความยึดติดนั้นเป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าหากว่าเราปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกก็จะค่อยๆทำให้เรายึดติดน้อยลง เราต้องคบหาสมาคมกับสาวกผู้อยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึก และควรแสวงหาสมาคมที่อุทิศตนให้แก่กฺฤษฺณจิตสำนึก และเรียนรู้การปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ เช่นนี้จะทำให้สามารถตัดความยึดติดกับโลกวัตถุนี้ได้ หากครองผ้าเหลืองเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถทำให้เราตัดความยึดติดกับความหลงใหลในโลกวัตถุได้ เราต้องยึดมั่นกับการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺ และควรปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้อย่างจริงจัง ดังที่ได้อธิบายไว้ในบทที่สิบสอง ซึ่งเป็นวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราออกไปจากตัวแทนจอมปลอมของต้นไม้จริงนี้ ในบทที่สิบสี่ได้อธิบายถึงวิธีการทั้งหลายของธรรมชาติวัตถุที่ทำให้มีมลทิน ได้กล่าวไว้ว่าการอุทิศตนเสียสละรับใช้เท่านั้นที่เป็นทิพย์อย่างบริสุทธิ์

คำว่า ปรมํ มม มีความสำคัญมากตรงนี้ อันที่จริงทุกซอกทุกมุมเป็นสมบัติขององค์ภควานฺ แต่โลกทิพย์เป็น ปรมมฺ ซึ่งเต็มไปด้วยความมั่งคั่งหกประการ กฐ อุปนิษทฺ (2.2.15) ยืนยันไว้เช่นกันว่าในโลกทิพย์ไม่จำเป็นต้องมีแสงอาทิตย์ แสงจันทร์ หรือหมู่ดวงดาว ( ตตฺร สูโรฺย ภาติ จนฺทฺร-ตารกมฺ) เนื่องจากพลังงานเบื้องสูงขององค์ภควานฺส่องแสงสว่างไสวไปทั่วท้องฟ้าทิพย์ทั้งหมด พระตำหนักสูงสุดจะบรรลุได้ด้วยการศิโรราบเท่านั้น ใช่ไม่ด้วยวิธีอื่นใดทั้งสิ้น

โศลก 7

mamaivāṁśo jīva-loke
jīva-bhūtaḥ sanātanaḥ
manaḥ-ṣaṣṭhānīndriyāṇi
prakṛti-sthāni karṣati
มไมวำโศ ชีว-โลเก
ชีว-ภูตห์ สนาตนห์
มนห์-ษษฺฐานีนฺทฺริยาณิ
ปฺรกฺฤติ-สฺถานิ กรฺษติ
มม — ของข้า, เอว — แน่นอน, อํศห์ — ละอองน้อยๆ, ชีว-โลเก — ในโลกแห่งชีวิตพันธนาการ, ชีว-ภูตห์ — พันธชีวิต, สนาตนห์ — อมตะ, มนห์ — ด้วยจิตใจ, ษษฺฐานิ — หก, อินฺทฺริยาณิ — ประสาทสัมผัส, ปฺรกฺฤติ — ธรรมชาติวัตถุ, สฺถานิ — สถิต, กรฺษติ — ดิ้นรนด้วยความยากลำบาก

คำแปล

สิ่งมีชีวิตในโลกแห่งพันธนาการนี้เป็นละอองน้อยๆนิรันดรของข้า เนื่องจากชีวิตที่ถูกพันธนาการพวกเขาจึงต้องดิ้นรนด้วยความยากลำบากมากกับประสาทสัมผัสทั้งหกซึ่งรวมทั้งจิตใจ

คำอธิบาย

โศลกนี้บุคลิกลักษณะของสิ่งมีชีวิตได้ให้ไว้อย่างชัดเจน สิ่งมีชีวิตเป็นละอองน้อยๆขององค์ภควานฺชั่วกัลปวสาน ไม่ใช่ว่าเราเป็นปัจเจกบุคคลในพันธชีวิตและเมื่อหลุดพ้นแล้วจะมาเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์เรายังคงเป็นละอองน้อยๆชั่วนิรันดร ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น สนาตนห์ ตามความเห็นของพระเวทองค์ภควานฺทรงปรากฏและแบ่งภาคเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ภาคที่แบ่งแยกครั้งแรกเรียกว่า วิษฺณุ-ตตฺตฺว และภาคแบ่งแยกครั้งที่สองคือสิ่งมีชีวิต อีกนัยหนึ่ง วิษฺณุ-ตตฺตฺว คือภาคแบ่งแยกส่วนพระองค์และสิ่งมีชีวิตเป็นภาคแบ่งแยกที่แยกออกไปจากภาคแบ่งแยกส่วนพระองค์พระองค์ทรงปรากฏในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น พระราม, นฺฤสึห-เทว, วิษฺณุมูรฺติ และพระปฏิมาผู้ปกครองสูงสุดในดาวเคราะห์ ไวกุณฺฐ ทั้งหมด สิ่งมีชีวิตผู้เป็นภาคแบ่งแยกที่แยกออกมาเป็นผู้รับใช้นิรันดร ภาคแบ่งแยกส่วนพระองค์ของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าซึ่งเป็นปัจเจกบุคคลแห่งองค์ภควานฺทรงปรากฏอยู่เสมอ ในทำนองเดียวกันภาคแบ่งแยกที่แยกออกไปแห่งสิ่งมีชีวิตก็มีบุคลิกลักษณะของตนเองเช่นกัน ในฐานะที่เป็นละอองอณูขององค์ภควานฺสิ่งมีชีวิตก็มีคุณสมบัติส่วนน้อยๆของพระองค์ดังเช่นอิสรภาพก็เป็นหนึ่งในคุณสมบัติ ทุกๆชีวิตในฐานะที่เป็นปัจเจกวิญญาณมีบุคลิกลักษณะส่วนตัว และมีรูปแบบแห่งความเป็นอิสระอยู่เล็กน้อย จากการใช้อิสระภาพไปในทางที่ผิดทำให้กลายมาเป็นพันธวิญญาณ และจากการใช้อิสรภาพไปในทางที่ถูกจะทำให้เขาหลุดพ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าในกรณีใดปัจเจกวิญญาณมีคุณสมบัติเหมือนกับองค์ภควานฺชั่วนิรันดร ในสภาวะหลุดพ้นเขาเป็นอิสระจากสภาวะทางวัตถุ และอยู่ภายใต้การปฏิบัติรับใช้ทิพย์ต่อองค์ภควานฺ ในพันธชีวิตเขาถูกสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุครอบงำจนทำให้ลืมการรับใช้ด้วยความรักทิพย์ต่อพระองค์ผลก็คือต้องดิ้นรนด้วยความยากลำบากเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นอยู่ในโลกวัตถุ

สิ่งมีชีวิตไม่เฉพาะแต่มนุษย์ แมว และสุนัข แม้แต่บรรดาผู้ควบคุมโลกวัตถุผู้ยิ่งใหญ่ เช่น พระพรหม พระศิวะ หรือแม้แต่พระวิษฺณุทั้งหมดล้วนเป็นละอองอณูขององค์ภควานฺ ทั้งหมดเป็นอมตะ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว คำว่า กรฺษติ (“ดิ้นรน” หรือ “ต่อสู้อย่างหนัก”) มีความสำคัญมาก พันธวิญญาณถูกพันธนาการเหมือนถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน ถูกอหังการล่ามโซ่ และจิตใจเป็นหัวหน้าผู้แทนซึ่งผลักให้เขามีความเป็นอยู่ทางวัตถุนี้ เมื่อจิตใจอยู่ในระดับความดีกิจกรรมนั้นก็ดีตาม แต่เมื่อจิตใจอยู่ในระดับตัณหากิจกรรมนั้นก็จะสร้างปัญหา และเมื่อจิตใจอยู่ในระดับอวิชชาเขาก็จะเดินทางอยู่ในเผ่าพันธุ์ชีวิตที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดีในโศลกนี้มีความชัดเจนว่า พันธวิญญาณพร้อมทั้งจิตใจและประสาทสัมผัสต่างๆถูกร่างวัตถุปกคลุม และเมื่อหลุดพ้นแล้วสิ่งปกคลุมทางวัตถุนี้จะสูญสลายไป แต่ร่างทิพย์ของเขาจะปรากฏปัจเจกศักยภาพในตัวเอง มีข้อมูลนี้ใน มาธฺยนฺทินายน-ศฺรุติ ดังนั้น วา เอษ พฺรหฺม-นิษฺฐ อิทํ ศรีรํ มรฺตฺยมฺ อติสฺฤชฺย พฺรหฺมาภิสมฺปทฺย พฺรหฺมณา ปศฺยติ พฺรหฺมณา ศฺฤโณติ พฺรหฺมไณเวทํ สรฺวมฺ อนุภวติ ได้กล่าวตรงนี้ว่า เมื่อสิ่งมีชีวิตยกเลิกร่างวัตถุนี้และเข้าไปในโลกทิพย์เขาฟื้นฟูร่างทิพย์ของตนเอง ในร่างทิพย์เขาสามารถเห็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าซึ่งๆหน้า สามารถสดับฟังและพูดกับพระองค์ซึ่งๆหน้า และสามารถเข้าใจองค์ภควานฺตามความเป็นจริง จาก สฺมฺฤติ ก็เช่นกัน เข้าใจว่า วสนฺติ ยตฺร ปุรุษาห์ สเรฺว ไวกุณฺฐ-มูรฺตยห์ ในดาวเคราะห์ทิพย์ทุกๆชีวิตอยู่ในร่างกายที่มีลักษณะคล้ายพระวรกายขององค์ภควานฺ สำหรับโครงสร้างของร่างกายไม่มีข้อแตกต่างระหว่างละอองอณู สิ่งมีชีวิต และภาคแบ่งแยกของ วิษฺณุ-มูรฺติ อีกนัยหนึ่งเมื่อเป็นอิสรภาพสิ่งมีชีวิตจะได้รับร่างทิพย์ด้วยพระกรุณาธิคุณของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า

คำว่า มไมวำศห์ (“ละอองอณูขององค์ภควานฺ”) มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ส่วนน้อยๆขององค์ภควานฺไม่เหมือนกับส่วนที่แตกหักของวัตถุบางอย่าง เราทราบจากบทที่สองว่าดวงวิญญาณถูกตัดเป็นชิ้นๆไม่ได้ ละอองน้อยๆนี้ไม่สามารถสำเหนียกได้ในเชิงวัตถุ ไม่เหมือนกับวัตถุที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆและนำมาต่อเข้าด้วยกันอีกครั้งได้ แนวคิดนั้นใช้ไม่ได้ตรงนี้ เพราะว่าคำสันสฤต สนาตน (“อมตะ”) หมายความว่าละอองอณูเป็นอมตะ ได้กล่าวไว้ในตอนต้นของบทที่สองเช่นกันว่า ในแต่ละปัจเจกร่างกายมีละอองอณูขององค์ภควานฺปรากฏอยู่ (เทหิโน ’สฺมินฺ ยถา เทเห) ละอองอณูนั้นเมื่อหลุดพ้นจากพันธนาการทางร่างกายแล้วจะฟื้นฟูร่างทิพย์เดิมแท้ของตนในท้องฟ้าทิพย์ภายในดาวเคราะห์ทิพย์ และรื่นเริงในการอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์อย่างไรก็ดีเข้าใจได้ ที่นี้ว่า สิ่งมีชีวิตเป็นละอองอณูขององค์ภควานฺมีคุณภาพเช่นเดียวกับพระองค์เปรียบเสมือนเศษทองก็เป็นทองเช่นเดียวกัน

โศลก 8

śarīraṁ yad avāpnoti
yac cāpy utkrāmatīśvaraḥ
gṛhītvaitāni saṁyāti
vāyur gandhān ivāśayāt
ศรีรํ ยทฺ อวาปฺโนติ
ยจฺ จาปฺยฺ อุตฺกฺรามตีศฺวรห์
คฺฤหีไตฺวตานิ สํยาติ
วายุรฺ คนฺธานฺ อิวาศยาตฺ
ศรีรมฺ — ร่างกาย, ยตฺ — ประหนึ่ง, อวาปฺโนติ — ได้รับ, ยตฺ — ประหนึ่ง, จ อปิ — เช่นกัน, อุตฺกฺรามติ — ยกเลิก, อีศฺวรห์ — เจ้าแห่งร่างกาย, คฺฤหีตฺวา — ได้รับ, เอตานิ — ทั้งหมดนี้, สํยาติ — ไป, วายุห์ — ลม, คนฺธานฺ — กลิ่น, อิว — เหมือน, อาศยาตฺ — จากแหล่งของพวกเขา

คำแปล

สิ่งมีชีวิตในโลกวัตถุนำเอาแนวคิดแห่งชีวิตที่ไม่เหมือนกันจากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างหนึ่ง เหมือนกับลมที่นำพาเอากลิ่นไป ดังนั้นเขาจึงรับเอาร่างหนึ่งมา แล้วออกไปเพื่อรับเอาอีกร่างหนึ่ง

คำอธิบาย

ที่นี้ได้อธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเป็น อีศฺวร หรือผู้ควบคุมร่างกายของตนเอง หากปรารถนาเขาสามารถเปลี่ยนร่างกายให้ได้คุณภาพที่สูงกว่า ในลักษณะเดียวกันนั้นก็สามารถย้ายลงไปในชั้นที่ต่ำกว่า เขามีอิสรภาพเพียงเล็กน้อย การเปลี่ยนร่างกายขึ้นอยู่กับตัวเขาเอง ในขณะตายจิตสำนึกที่สร้างขึ้นมาจะนำพาเขาไปยังร่างต่อไป หากทำให้จิตสำนึกเหมือนกับแมวหรือสุนัข แน่นอนว่าต้องเปลี่ยนเป็นร่างแมวหรือร่างสุนัข และหากตั้งมั่นจิตสำนึกในคุณสมบัติเทพเขาจะเปลี่ยนร่างเป็นเทพ และหากอยู่ในกฺฤษฺณจิตสำนึกเขาจะย้ายไปยัง กฺฤษฺณโลก ในโลกทิพย์และจะอยู่ใกล้กับองค์กฺฤษฺณ เป็นการกล่าวอ้างที่ผิดๆที่ว่าหลังจากร่างกายนี้ถูกทำลายไปทุกสิ่งทุกอย่างจะจบสิ้นลง อันที่จริงปัจเจกวิญญาณย้ายจากร่างหนึ่งไปสู่อีกร่างหนึ่ง ร่างกายและกิจกรรมปัจจุบันเป็นพื้นฐานสำหรับร่างต่อไป เราได้รับร่างกายที่ไม่เหมือนกันตามกรรม และต้องออกจากร่างนี้ไปตามกาลเวลา ได้กล่าวไว้ ที่นี้ว่าร่างละเอียดจะนำพาแนวคิดไปยังร่างต่อไป และพัฒนาอีกร่างหนึ่งในชาติหน้า กรรมวิธีแห่งการเปลี่ยนจากร่างหนึ่งไปยังอีกร่างหนึ่งและดิ้นรนต่อสู้ขณะอยู่ในร่างกายเรียกว่า กรฺษติ หรือการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

โศลก 9

śrotraṁ cakṣuḥ sparśanaṁ ca
rasanaṁ ghrāṇam eva ca
adhiṣṭhāya manaś cāyaṁ
viṣayān upasevate
โศฺรตฺรํ จกฺษุห์ สฺปรฺศนํ จ
รสนํ ฆฺราณมฺ เอว จ
อธิษฺฐาย มนศฺ จายํ
วิษยานฺ อุปเสวเต
โศฺรตฺรมฺ — หู, จกฺษุห์ — ตา, สฺปรฺศนมฺ — สัมผัส, — เช่นกัน, รสนมฺ — ลิ้น, ฆฺราณมฺ — อำนาจในการดมกลิ่น, เอว — เช่นกัน, — และ, อธิษฺฐาย — สถิตใน, มนห์ — จิตใจ, — เช่นกัน, อยมฺ — เขา, วิษยานฺ — อายตะนภายนอก, อุปเสวเต — รื่นเริง

คำแปล

ดังนั้นสิ่งมีชีวิตได้ร่างหยาบอีกร่างหนึ่ง มีชนิดของหู ตา ลิ้น จมูก และความรู้สึกในการสัมผัสโดยเฉพาะซึ่งรวมกันอยู่รอบๆจิตใจ จากนั้นเขาก็รื่นเริงกับอายตนะภายนอกอีกชุดหนึ่งโดยเฉพาะ

คำอธิบาย

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากสิ่งมีชีวิตเจือปนจิตสำนึกของตนเองกับคุณสมบัติของแมวและสุนัข ในชาติหน้าจะได้รับร่างแมวหรือร่างสุนัขและรื่นเริงกับมัน เดิมทีจิตสำนึกบริสุทธิ์เหมือนน้ำแต่ถ้าเราผสมน้ำกับสีมันจะเปลี่ยนสี เช่นเดียวกับจิตสำนึกบริสุทธิ์เพราะว่าดวงวิญญาณนั้นบริสุทธิ์ แต่จิตสำนึกเปลี่ยนไปตามที่เรามาใกล้ชิดกับคุณลักษณะทางวัตถุ จิตสำนึกที่แท้จริงคือกฺฤษฺณจิตสำนึก ดังนั้นเมื่อสถิตในกฺฤษฺณจิตสำนึกเราจะอยู่ในชีวิตที่บริสุทธิ์แห่งตนเอง แต่หากว่าจิตสำนึกเจือปนกับแนวคิดทางวัตถุบางอย่างในชาติหน้าเขาจะได้รับร่างกายตามนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับร่างมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง เขาอาจได้รับร่างแมว สุนัข สุกร เทวดา หรือหนึ่งในหลายๆร่างเพราะมีถึง 8,4000,000 เผ่าพันธุ์

โศลก 10

utkrāmantaṁ sthitaṁ vāpi
bhuñjānaṁ vā guṇānvitam
vimūḍhā nānupaśyanti
paśyanti jñāna-cakṣuṣaḥ
อุตฺกฺรามนฺตํ สฺถิตํ วาปิ
ภุญฺชานํ วา คุณานฺวิตมฺ
วิมูฒา นานุปศฺยนฺติ
ปศฺยนฺติ ชฺญาน-จกฺษุษห์
อุตฺกฺรามนฺตมฺ — ออกจากร่างกาย, สฺถิตมฺ — สถิตในร่างกาย, วา อปิ — ทั้งสอง, ภุญฺชานมฺ — รื่นเริง, วา — หรือ, คุณ-อนฺวิตมฺ — ภายใต้มนต์สะกดของสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ, วิมูฒาห์ — คนโง่, — ไม่เคย, อนุปศฺยนฺติ — สามารถเห็น, ปศฺยนฺติ — สามารถเห็น, ชฺญาน-จกฺษุษห์ — พวกที่มีจักษุแห่งความรู้

คำแปล

คนโง่เขลาไม่สามารถเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตจะออกจากร่างกายของตนเองได้อย่างไร และก็ไม่สามารถเข้าใจว่าร่างกายชนิดไหนที่เขาจะรื่นเริงภายใต้มนต์สะกดของระดับแห่งธรรมชาติ แต่ผู้มีสายตาที่ได้รับการฝึกฝนในความรู้จะสามารถเห็นทั้งหมดนี้

คำอธิบาย

คำว่า ชฺญาน-จกฺษุษห์ สำคัญมาก หากปราศจากความรู้ก็จะไม่สามารถเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตออกจากร่างปัจจุบันได้อย่างไร ร่างกายชนิดไหนที่เขาจะได้รับในชาติหน้า และทำไมจึงมาอยู่ในร่างนี้โดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีความรู้มากพอสมควรที่เข้าใจมาจาก ภควัท-คีตา และวรรณกรรมคล้ายกันนี้ รวมทั้งสดับฟังมาจากพระอาจารย์ทิพย์ผู้ที่เชื่อถือ ผู้ใดที่ได้รับการฝึกฝนให้สำเหนียกสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นผู้โชคดี ทุกๆชีวิตออกจากร่างของตนภายใต้สถานการณ์เฉพาะซึ่งอยู่ภายใต้มนต์สะกดของธรรมชาติวัตถุ ผลก็คือเราได้รับความทรมานต่างๆจากความสุขและความทุกข์ ภายใต้ความหลงแห่งการรื่นรมณ์ในประสาทสัมผัสคนที่โง่อยู่กับราคะและความต้องการอยู่ตลอดเวลา เขาได้สูญเสียพลังอำนาจในการเข้าใจทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนร่างและการที่ตนเองมาอยู่ในร่างเฉพาะนี้ บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถทำความเข้าใจได้ อย่างไรก็ดีพวกที่ได้พัฒนาความรู้ทิพย์จะสามารถเห็นว่าดวงวิญญาณนั้นแตกต่างจากร่างกาย ดวงวิญญาณเปลี่ยนร่าง และรื่นเริงในวิถีทางต่างๆ ผู้ที่มีความรู้เช่นนี้สามารถเข้าใจว่าชีวิตที่ถูกพันธนาการนั้นได้รับความทุกข์ทรมานในความเป็นอยู่ทางวัตถุนี้ได้อย่างไร ดังนั้นบุคคลผู้ที่พัฒนาในกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างจริงจังจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อแจกจ่ายความรู้นี้แก่ผู้คนโดยทั่วไป เนื่องจากพันธชีวิตมีปัญหามากเราจึงควรออกไปจากมันและมีกฺฤษฺณจิตสำนึก ซึ่งจะทำให้ตนเองได้รับอิสรภาพและย้ายไปอยู่โลกทิพย์

โศลก 11

yatanto yoginaś cainaṁ
paśyanty ātmany avasthitam
yatanto ’py akṛtātmāno
nainaṁ paśyanty acetasaḥ
ยตนฺโต โยคินศฺ ไจนํ
ปศฺยนฺตฺยฺ อาตฺมนฺยฺ อวสฺถิตมฺ
ยตนฺโต ’ปฺยฺ อกฺฤตาตฺมาโน
ไนนํ ปศฺยนฺตฺยฺ อเจตสห์
ยตนฺตห์ — ความพยายาม, โยคินห์ — นักทิพย์นิยม, — เช่นกัน, เอนมฺ — นี้, ปศฺยนฺติ — สามารถเห็น, อาตฺมนิ — ในตัว, อวสฺถิตมฺ — สถิต, ยตนฺตห์ — พยายาม, อปิ — ถึงแม้, อกฺฤต-อาตฺมานห์ — พวกที่ไม่มีความรู้แจ้งแห่งตน, — ไม่, เอนมฺ — นี้, ปศฺยนฺติ — เห็น, อเจตสห์ — มีจิตใจที่ไม่พัฒนา

คำแปล

นักทิพย์นิยมผู้มีความพยายามสถิตในความรู้แจ้งแห่งตน สามารถเห็นทั้งหมดนี้อย่างชัดเจน แต่พวกที่จิตใจไม่พัฒนา และไม่สถิตในความรู้แจ้งแห่งตน ไม่สามารถเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นแม้อาจพยายาม

คำอธิบาย

มีนักทิพย์นิยมมากมายบนหนทางแห่งความรู้แจ้งแห่งตน แต่ผู้ที่ไม่สถิตในความรู้แจ้งแห่งตนจะไม่สามารถเห็นว่าสิ่งต่างๆในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร คำว่า โยคินห์ มีความสำคัญในประเด็นนี้ ปัจจุบันมีพวกที่สมมติว่าเป็นโยคีมากมายและมีสถานที่ที่สมมติว่าเป็นสมาคมของพวกโยคีมากมาย เช่นกันแต่อันที่จริงเป็นที่มืดมนเกี่ยวกับเรื่องความรู้แจ้งแห่งตน พวกเขาเพียงแต่มัวเมาอยู่กับท่าบริหารยิมนาสติกต่างๆ และมีความพึงพอใจหากร่างกายสวยงามและสุขภาพดีโดยไม่มีข้อมูลอื่น พวกนี้เรียกว่า ยตนฺโต ’ปฺยฺ อกฺฤตาตฺมานห์ ถึงแม้ว่าพยายามในสิ่งที่สมมติว่าเป็นระบบโยคะแต่จะไม่รู้แจ้งตนเอง และไม่สามารถเข้าใจวิธีการเปลี่ยนร่างของดวงวิญญาณ พวกที่อยู่ในระบบโยคะที่แท้จริงเท่านั้นจึงรู้แจ้งตนเอง รู้แจ้งโลกและรู้แจ้งองค์ภควานฺ อีกนัยหนึ่งพวก ภกฺติ-โยคี ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ในกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างบริสุทธิ์จึงจะเข้าใจว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างไร

โศลก 12

yad āditya-gataṁ tejo
jagad bhāsayate ’khilam
yac candramasi yac cāgnau
tat tejo viddhi māmakam
ยทฺ อาทิตฺย-คตํ เตโช
ชคทฺ ภาสยเต ’ขิลมฺ
ยจฺ จนฺทฺรมสิ ยจฺ จาคฺเนา
ตตฺ เตโช วิทฺธิ มามกมฺ
ยตฺ — ซึ่ง, อาทิตฺย-คตมฺ — ในแสงอาทิตย์, เตชห์ — วิเศษ, ชคตฺ — ทั่วทั้งโลก, ภาสยเต — สว่างไสว, อขิลมฺ — ทั้งหมด, ยตฺ — ซึ่ง, จนฺทฺรมสิ — ในดวงจันทร์, ยตฺ — ซึ่ง, — เช่นกัน, อคฺเนา — ในไฟ, ตตฺ — นั้น, เตชห์ — วิเศษ, วิทฺธิ — เข้าใจ, มามกมฺ — จากข้า

คำแปล

ความวิเศษของดวงอาทิตย์ที่ขจัดความมืดแห่งโลกนี้ทั้งหมด มาจากข้า ความวิเศษของดวงจันทร์ และความวิเศษของไฟก็มาจากข้าเช่นกัน

คำอธิบาย

ผู้ไม่มีปัญญาไม่สามารถเข้าใจว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เริ่มสถิตในความรู้ด้วยการเข้าใจสิ่งที่องค์ภควานฺทรงอธิบายตรงนี้ ทุกๆคนเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ คบเพลิง และไฟฟ้า เราควรพยายามเข้าใจว่าความวิเศษของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ไฟฟ้า หรือคบเพลิงมาจากองค์ภควานฺ แนวคิดแห่งชีวิตเช่นนี้ทำให้จุดเริ่มต้นของกฺฤษฺณจิตสำนึกเจริญก้าวหน้าอย่างมหาศาลสำหรับพันธวิญญาณในโลกวัตถุนี้ สิ่งมีชีวิตเป็นละอองอณูโดยแน่แท้ขององค์ภควานฺ และพระองค์ทรงชี้แนะ ที่นี้ว่า พวกเราสามารถกลับคืนสู่เหย้าคืนสู่องค์ภควานฺได้อย่างไร

จากโศลกนี้เราสามารถเข้าใจว่าดวงอาทิตย์ส่องแสงไปทั่วทั้งระบบสุริยะ มีจักรวาลและระบบสุริยะต่างๆ มีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หลายดวง และมีดาวเคราะห์มากมายเช่นกัน ซึ่งในแต่ละจักรวาลมีดวงอาทิตย์เพียงดวงเดียว ดังที่ได้กล่าวไว้ใน ภควัท-คีตา (10.21) ว่าดวงจันทร์เป็นหนึ่งในหมู่ดวงดาว (นกฺษตฺราณามฺ อหํ ศศี) ที่มีแสงอาทิตย์ก็เนื่องมาจากรัศมีทิพย์ในท้องฟ้าทิพย์ขององค์ภควานฺ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นกิจกรรมของมนุษย์จึงเริ่มดำเนินขึ้น เราจุดไฟเพื่อปรุงอาหาร จุดไฟเพื่อเริ่มปฏิบัติงานในโรงงาน เป็นต้น ดังนั้นหลายสิ่งหลายอย่างดำเนินไปเนื่องจากการช่วยเหลือของไฟ ฉะนั้นแสงอาทิตย์ แสงไฟ และแสงจันทร์เป็นที่น่าชื่นชมยินดีอย่างมากมายสำหรับสิ่งมีชีวิต หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากสิ่งเหล่านี้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นหากสามารถเข้าใจว่าแสงและความวิเศษของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และไฟออกมาจากองค์กฺฤษฺณบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าจากตรงนี้กฺฤษฺณจิตสำนึกของเราก็เริ่มต้นขึ้น จากแสงจันทร์พืชผักทั้งหลายได้รับการบำรุงเลี้ยง แสงจันทร์เป็นที่ชื่นชมยินดีมากจนผู้คนสามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่าพวกเรามีชีวิตอยู่ได้ก็เนื่องจากพระเมตตาของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าองค์กฺฤษฺณ หากปราศจากพระเมตตาของพระองค์แล้วจะไม่มีดวงอาทิตย์ ปราศจากพระเมตตาของพระองค์จะไม่มีดวงจันทร์ ปราศจากพระเมตตาของพระองค์จะไม่มีไฟ และปราศจากการช่วยเหลือของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และไฟจะไม่มีผู้ใดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดบางประการที่จะช่วยกระตุ้นกฺฤษฺณจิตสำนึกในพันธวิญญาณ

โศลก 13

gām āviśya ca bhūtāni
dhārayāmy aham ojasā
puṣṇāmi cauṣadhīḥ sarvāḥ
somo bhūtvā rasātmakaḥ
คามฺ อาวิศฺย จ ภูตานิ
ธารยามฺยฺ อหมฺ โอชสา
ปุษฺณามิ เจาษธีห์ สรฺวาห์
โสโม ภูตฺวา รสาตฺมกห์
คามฺ — ดาวเคราะห์, อาวิศฺย — เข้าไป, — เช่นกัน, ภูตานิ — สิ่งมีชีวิต, ธารยามิ — ค้ำจุน, อหมฺ — ข้า, โอชสา — ด้วยพลังงานของข้า, ปุษฺณามิ — บำรุงเลี้ยง, — และ, เอาษธีห์ — พวกผัก, สรฺวาห์ — ทั้งหมด, โสมห์ — ดวงจันทร์, ภูตฺวา — มาเป็น, รส-อาตฺมกห์ — ส่งน้ำให้

คำแปล

ข้าเข้าไปในแต่ละดาวเคราะห์ ด้วยพลังงานของข้าทั้งหมดมันจึงโคจรไปรอบตัวข้า กลายมาเป็นดวงจันทร์ที่ส่งน้ำแห่งชีวิตไปให้พืชผักทั้งหลาย

คำอธิบาย

เป็นที่เข้าใจได้ว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดลอยอยู่ในอากาศได้ก็เนื่องด้วยพลังงานขององค์ภควานฺเท่านั้น พระองค์เสด็จเข้าไปในทุกๆอณู ทุกๆดาวเคราะห์ และทุกๆชีวิต ได้อธิบายไว้ใน พฺรหฺม-สํหิตา ว่าหนึ่งในภาคแบ่งแยกอันสมบูรณ์ของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า ปรมาตฺมา ได้เสด็จเข้าไปในดาวเคราะห์ ในจักรวาล ในสิ่งมีชีวิต และแม้แต่ในอณู เนื่องจากพระองค์เสด็จเข้าไปทุกสิ่งทุกอย่างจึงปรากฏอย่างเหมาะสม เมื่อมีดวงวิญญาณอยู่ในร่างแล้วมนุษย์จึงสามารถลอยอยู่ในน้ำได้ แต่เมื่อละอองชีวิตออกไปจากร่างร่างกายก็จะตายและจมน้ำ แน่นอนว่าเมื่อร่างกายเน่าเปื่อยก็จะลอยขึ้นมาเหมือนกับฟางและสิ่งอื่นๆ แต่ทันทีที่คนตายศพก็จะจมลงไปในน้ำ ลักษณะเดียวกันดาวเคราะห์ทั้งหมดลอยอยู่ในอวกาศ ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เนื่องจากพลังงานเบื้องสูงขององค์ภควานฺได้เข้าไป พลังงานของพระองค์ทรงค้ำจุนแต่ละดาวเคราะห์เหมือนกับฝุ่นในกำมือ หากผู้ใดกำฝุ่นอยู่ในมือฝุ่นก็จะไม่หลุดลอยไป แต่หากปาออกไปในอากาศฝุ่นก็จะกระจายตกลงพื้นดิน ทำนองเดียวกันดาวเคราะห์เหล่านี้ที่ลอยอยู่ในอากาศอันที่จริงอยู่ในกำมือของรูปลักษณ์จักรวาลแห่งองค์ภควานฺ ด้วยพลังและอำนาจของพระองค์สิ่งต่างๆทั้งหมดทั้งเคลื่อนที่และไม่เคลื่อนจึงอยู่ในตำแหน่งของตนเอง ได้กล่าวไว้ในบทมนต์พระเวทว่า เนื่องมาจากบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าดวงอาทิตย์จึงส่องแสงและดาวเคราะห์ต่างๆจึงเคลื่อนไปอย่างมั่นคง หากพระองค์ทรงไม่ทำเช่นนี้ดาวเคราะห์ทั้งหมดจะกระจัดกระจายเหมือนกับฝุ่นในอากาศและสูญสลายไป ในทำนองเดียวกันเนื่องจากพระองค์ที่ทำให้ดวงจันทร์บำรุงเลี้ยงพืชผักต่างๆทั้งหมด และด้วยอิทธิพลของดวงจันทร์พืชผักต่างๆจึงมีรสอร่อย หากปราศจากแสงจันทร์พืชผักต่างๆก็จะเจริญเติบโตไม่ได้และจะไม่มีรสชุ่มฉ่่ำ สังคมมนุษย์ดำเนินต่อไปมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายและรื่นเริงไปกับอาหารทั้งหมดนี้เนื่องมาจากองค์ภควานฺทรงเป็นผู้จัดส่งให้ มิฉะนั้นมนุษยชาติก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ คำว่า รสาตฺมกห์ มีความสำคัญมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่อร่อยปากก็เนื่องมาจากผู้แทนขององค์ภควานฺโดยผ่านทางอิทธิพลของดวงจันทร์

โศลก 14

ahaṁ vaiśvānaro bhūtvā
prāṇināṁ deham āśritaḥ
prāṇāpāna-samāyuktaḥ
pacāmy annaṁ catur-vidham
อหํ ไวศฺวานโร ภูตฺวา
ปฺราณินำ เทหมฺ อาศฺริตห์
ปฺราณาปาน-สมายุกฺตห์
ปจามฺยฺ อนฺนํ จตุรฺ-วิธมฺ
อหมฺ — ข้า, ไวศฺวานรห์ — ส่วนอันสมบูรณ์ของข้าที่เป็นไฟสำหรับย่อยอาหาร, ภูตฺวา — มาเป็น, ปฺราณินามฺ — ของมวลชีวิต, เทหมฺ — ในร่างกาย, อาศฺริตห์ — สถิต, ปฺราณ — ลมหายใจออก, อปาน — ลมลงข้างล่าง, สมายุกฺตห์ — รักษาดุลยภาพ, ปจามิ — ข้าย่อย, อนฺนมฺ — อาหาร, จตุห์-วิธมฺ — สี่ชนิด

คำแปล

ข้าคือไฟในการย่อยอาหารภายในร่างกายของมวลชีวิต และข้าได้ร่วมกับลมปราณแห่งชีวิตทั้งออกและเข้า เพื่อย่อยอาหารสี่ชนิด

คำอธิบาย

ตาม อายุรฺ เวท ศาสฺตฺร เราเข้าใจว่ามีไฟในท้องซึ่งย่อยอาหารทั้งหมดที่ถูกส่งไป เมื่อไฟไม่ร้อนจะไม่มีความหิว เมื่อไฟทำงานเป็นปกติเราจะรู้สึกหิว บางครั้งไฟไม่ทำงานจำเป็นต้องรักษา ในทุกๆกรณีไฟนี้คือผู้แทนของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า มนฺตฺร พระเวท (พฺฤหทฺ-อารณฺยก อุปนิษทฺ 5.9.1) ได้ยืนยันไว้เช่นกันว่าองค์ภควานฺหรือ พฺรหฺมนฺ ทรงสถิตในรูปของไฟภายในท้องและย่อยอาหารทุกชนิด (อยมฺ อคฺนิรฺ ไวศฺวานโร โย ’ยมฺ อนฺตห์ ปุรุเษ เยเนทมฺ อนฺนํ ปจฺยเต) เนื่องจากพระองค์ทรงช่วยในการย่อยอาหารทั้งหมดสิ่งมีชีวิตจึงไม่เป็นอิสระในกรรมวิธีของการรับประทานอาหาร หากพระองค์ไม่ทรงช่วยเหลือในการย่อยเราจะไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ดังนั้นพระองค์ทรงเป็นผู้ผลิตและทรงเป็นผู้ย่อยอาหาร และด้วยพระกรุณาของพระองค์พวกเราจึงได้รื่นเริงกับชีวิต ใน เวทานฺต-สูตฺร (1.2.27) ได้ยืนยันไว้เช่นกันดังนี้ ศพฺทาทิโภฺย ’นฺตห์ ปฺรติษฺฐานาจฺ องค์ภควานฺทรงสถิตภายในเสียงและภายในร่างกาย ภายในอากาศ และแม้แต่ภายในท้องในรูปของพลังแห่งการย่อย มีอาหารอยู่สี่ชนิดคือ ชนิดกลืน ชนิดเคี้ยว ชนิดเลีย และชนิดดูด พระองค์ทรงเป็นพลังในการย่อยอาหารทั้งหมด

โศลก 15

sarvasya cāhaṁ hṛdi sanniviṣṭo
mattaḥ smṛtir jñānam apohanaṁ ca
vedaiś ca sarvair aham eva vedyo
vedānta-kṛd veda-vid eva cāham
สรฺวสฺย จาหํ หฺฤทิ สนฺนิวิษฺโฏ
มตฺตห์ สฺมฺฤติรฺ ชฺญานมฺ อโปหนํ จ
เวไทศฺ จ สไรฺวรฺ อหมฺ เอว เวโทฺย
เวทานฺต-กฺฤทฺ เวท-วิทฺ เอว จาหมฺ
สรฺวสฺย — ของมวลชีวิต, — และ, อหมฺ — ข้า, หฺฤทิ — ในหัวใจ, สนฺนิวิษฺฏห์ — สถิต, มตฺตห์ — จากข้า, สฺมฺฤติห์ — ความจำ, ชฺญานมฺ — ความรู้, อโปหนมฺ — การลืม, — และ, เวไทห์ — โดยคัมภีร์พระเวท, — เช่นกัน, สไรฺวห์ — ทั้งหมด, อหมฺ — ข้าเป็น, เอว — แน่นอน, เวทฺยห์ — สิ่งรู้, เวทานฺต-กฺฤตฺ — ผู้รวบรวม เวทานฺต, เวท-วิตฺ — ผู้รู้คัมภีร์พระเวท, เอว — แน่นอน, — และ, อหมฺ — ข้า

คำแปล

ข้าประทับอยู่ภายในหัวใจของทุกคน ความจำ ความรู้ และการลืมมาจากข้า คัมภีร์พระเวททั้งหมดสอนให้รู้จักข้า แน่นอนว่าข้าคือผู้รวบรวม เวทานฺต และข้าคือผู้รู้คัมภีร์พระเวท

คำอธิบาย

องค์ภควานฺทรงสถิตในหัวใจของทุกคนในฐานะ ปรมาตฺมา จากพระองค์กิจกรรมทั้งหลายจึงเริ่มต้นขึ้น สิ่งมีชีวิตลืมทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตชาติของตนเองแต่ต้องปฏิบัติตามการชี้นำขององค์ภควานฺผู้ทรงเป็นพยานในกิจกรรมทั้งหลาย เขาจึงสามารถเริ่มกิจกรรมตามกรรมเก่าได้ ทั้งความรู้และความจำที่จำเป็นได้ให้แก่เขา แล้วเขาก็ลืมเกี่ยวกับอดีตชาติของตนเอง ดังนั้นพระองค์ไม่ทรงเป็นเพียงผู้แผ่กระจายไปทั่วเท่านั้น แต่ยังทรงประทับอยู่ภายในหัวใจของทุกคน พระองค์ทรงให้ผลทางวัตถุต่างๆเป็นรางวัล ไม่เพียงทรงได้รับการบูชาในฐานะ พฺรหฺมนฺ อันไร้รูปลักษณ์องค์ภควานฺและ ปรมาตฺมา ในหัวใจของทุกคนเท่านั้น แต่ยังทรงได้รับการบูชาในรูปลักษณ์ของอวตารต่างๆในคัมภีร์พระเวทด้วยเช่นกัน คัมภีร์พระเวทให้ทิศทางที่ถูกต้องแก่ผู้คนเพื่อสามารถหล่อหลอมชีวิตของตนเองอย่างถูกต้องในการกลับคืนสู่องค์ภควานฺคืนสู่เหย้า คัมภีร์พระเวทให้ความรู้แห่งบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าองค์กฺฤษฺณ และองค์กฺฤษฺณในรูปอวตาร วฺยาสเทว ทรงเป็นผู้รวบรวม เวทานฺต-สูตฺร คำอธิบาย เวทานฺต-สูตฺร โดย วฺยาสเทว ใน ศฺรีมทฺ-ภาควตมฺ ได้ให้ความเข้าใจที่แท้จริงของ เวทานฺต-สูตฺร องค์ภควานฺทรงมีความบริบูรณ์ในการจัดส่งพันธวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นผู้ส่งอาหารและย่อยอาหาร ทรงเป็นพยานในกิจกรรม และทรงให้ความรู้ในรูปของพระเวท และในฐานะที่เป็นบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าศฺรี กฺฤษฺณทรงสอน ภควัท-คีตา พระองค์ทรงเป็นที่เคารพบูชาของพันธวิญญาณ ดังนั้นพระองค์ทรงดีไปหมด และทรงมีพระเมตตาธิคุณด้วยประการทั้งปวง

อนฺตห์-ปฺรวิษฺฏห์ ศาสฺตา ชนานามฺ สิ่งมีชีวิตจะลืมทันทีที่ออกจากร่างปัจจุบันไป แต่จะเริ่มทำงานอีกครั้งหนึ่งซึ่งองค์ภควานฺทรงเป็นผู้ริเริ่ม ถึงแม้ว่าตนเองลืมพระองค์ก็จะทรงให้ปัญญาเพื่อสานต่องานที่จบลงจากชาติก่อน ดังนั้นสิ่งมีชีวิตไม่เพียงแต่รื่นเริงหรือได้รับความทุกข์ในโลกนี้ตามคำสั่งจากองค์ภควานฺผู้ทรงสถิตในหัวใจ แต่ยังได้รับโอกาสเพื่อเข้าใจคัมภีร์พระเวทจากพระองค์หากเขาจริงจังเกี่ยวกับการเข้าใจความรู้พระเวท องค์กฺฤษฺณจะทรงให้ปัญญาที่จำเป็น ทำไมพระองค์จะทรงให้ความรู้พระเวทเพื่อการเข้าใจ เพราะว่าปัจเจกชีวิตจำเป็นต้องเข้าใจองค์กฺฤษฺณ วรรณกรรมพระเวทได้ยืนยันไว้ดังนี้ โย ’เสา สไรฺวรฺ เวไทรฺ คียเต ในวรรณกรรมพระเวททั้งหมดเริ่มจากพระเวททั้งสี่เล่ม เวทานฺต-สูตฺร, อุปนิษทฺ และ ปุราณ พระบารมีขององค์ภควานฺทรงได้รับการสรรเสริญ ด้วยการปฏิบัติพิธีกรรมทางพระเวท สนทนาปรัชญาพระเวท และบูชาองค์ภควานฺด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้แล้วจะบรรลุถึงพระองค์ดังนั้นจุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวทคือ ให้เข้าใจองค์กฺฤษฺณ คัมภีร์พระเวทให้ทิศทางแก่เราเพื่อเข้าใจองค์กฺฤษฺณและวิธีการเพื่อรู้แจ้งพระองค์จุดมุ่งหมายสูงสุดคือ บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า เวทานฺต-สูตฺร (1.1.4) ยืนยันดังนี้ ตตฺ ตุ สมนฺวยาตฺ เราสามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์ในสามระดับ จากการเข้าใจวรรณกรรมพระเวทเราจะเข้าใจความสัมพันธ์ของเรากับองค์ภควานฺ จากการปฏิบัติตามวิธีต่างๆเราจะสามารถเข้าถึงพระองค์และในที่สุดเราสามารถบรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดซึ่งมิใช่ผู้ใดอื่นนอกจากองค์ภควานฺ โศลกนี้จุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวท การเข้าใจคัมภีร์พระเวท และเป้าหมายของคัมภีร์พระเวทได้ให้คำนิยามไว้อย่างชัดเจน

โศลก 16

dvāv imau puruṣau loke
kṣaraś cākṣara eva ca
kṣaraḥ sarvāṇi bhūtāni
kūṭa-stho ’kṣara ucyate
ทฺวาวฺ อิเมา ปุรุเษา โลเก
กฺษรศฺ จากฺษร เอว จ
กฺษรห์ สรฺวาณิ ภูตานิ
กูฏ-โสฺถ ’กฺษร อุจฺยเต
เทฺวา — สอง, อิเมา — เหล่านี้, ปุรุเษา — สิ่งมีชีวิต, โลเก — ในโลก, กฺษรห์ — ผิดพลาด, — และ, อกฺษรห์ — ไม่ผิดพลาด, เอว — แน่นอน, — และ, กฺษรห์ — ผิดพลาด, สรฺวาณิ — ทั้งหมด, ภูตานิ — สิ่งมีชีวิต, กูฏ-สฺถห์ — ในความเป็นหนึ่ง, อกฺษรห์ — ไม่ผิดพลาด, อุจฺยเต — ได้กล่าวไว้

คำแปล

มีชีวิตอยู่สองประเภท ผิดพลาด และไม่ผิดพลาด ในโลกวัตถุทุกชีวิตผิดพลาด และในโลกทิพย์ทุกชีวิตไม่ผิดพลาด

คำอธิบาย

ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วว่าองค์ภควานฺในรูปอวตาร วฺยาสเทว ทรงรวบรวม เวทานฺต-สูตฺร ที่นี้ พระองค์ทรงให้ข้อสรุปของ เวทานฺต-สูตฺร โดยตรัสว่า สิ่งมีชีวิตซึ่งมีจำนวนนับไม่ถ้วนแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ผิดพลาด และกลุ่มที่ไม่ผิดพลาด สิ่งมีชีวิตเป็นละอองอณูที่แยกออกมาจากบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้านิรันดรเมื่อมาสัมผัสกับโลกวัตถุเรียกว่า ชีว-ภูต ได้ให้คำสันสกฤตตรงนี้ กฺษรห์ สรฺวาณิ ภูตานิ หมายความว่าพวกนี้ผิดพลาด อย่างไรก็ดีพวกที่เป็นหนึ่งเดียวกับองค์ภควานฺเรียกว่าไม่ผิดพลาด ความเป็นหนึ่งเดียวกันมิได้หมายความว่าไม่ได้เป็นปัจเจกบุคคลแต่ไม่มีความแตกแยกกัน ทั้งหมดนั้นยอมรับจุดมุ่งหมายแห่งการสร้าง แน่นอนว่าในโลกทิพย์ไม่มีการสร้าง แต่เนื่องจากบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงเป็นแหล่งกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่างที่ออกมา ดังที่ได้กล่าวไว้ใน เวทานฺต-สูตฺร จึงได้อธิบายแนวคิดนั้น

ตามข้อความของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าองค์ศฺรี กฺฤษฺณว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่สองกลุ่ม คัมภีร์พระเวทให้หลักฐานนี้จึงไม่มีข้อสงสัย สิ่งมีชีวิตดิ้นรนต่อสู้ในโลกนี้ด้วยจิตใจและประสาทสัมผัสทั้งห้า มีร่างกายวัตถุที่มีการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่สิ่งมีชีวิตอยู่ในพันธสภาวะร่างกายของเขาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมาสัมผัสกับวัตถุเพราะวัตถุเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งมีชีวิตจึงดูเหมือนว่าเปลี่ยนแปลง แต่ในโลกทิพย์ร่างกายมิได้ทำมาจากวัตถุดังนั้นจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในโลกวัตถุสิ่งมีชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงหกขั้นตอน คือ เกิด เจริญเติบโต คงอยู่ระยะเวลาหนึ่ง สืบพันธุ์ หดตัวลง และสูญสลายไป ขั้นตอนเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงของร่างวัตถุ แต่ในโลกทิพย์ร่างกายไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีความชรา ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ทั้งหมดเป็นอยู่ในความเป็นหนึ่ง กฺษรห์ สรฺวาณิ ภูตานิ สิ่งมีชีวิตใดๆที่มาสัมผัสกับวัตถุเริ่มต้นจากดวงชีวิตแรกคือ พระพรหมลงไปจนถึงมดตัวเล็กๆร่างกายต้องเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นพวกเขาทั้งหมดจึงมีความผิดพลาด อย่างไรก็ดีในโลกทิพย์ทุกชีวิตเป็นอิสระในความเป็นหนึ่งอยู่เสมอ

โศลก 17

uttamaḥ puruṣas tv anyaḥ
paramātmety udāhṛtaḥ
yo loka-trayam āviśya
bibharty avyaya īśvaraḥ
อุตฺตมห์ ปุรุษสฺ ตฺวฺ อนฺยห์
ปรมาตฺเมตฺยฺ อุทาหฺฤตห์
โย โลก-ตฺรยมฺ อาวิศฺย
พิภรฺตฺยฺ อวฺยย อีศฺวรห์
อุตฺตมห์ — ดีที่สุด, ปุรุษห์ — บุคลิกภาพ, ตุ — แต่, อนฺยห์ — อีกผู้หนึ่ง, ปรม-อาตฺมา — พระองค์เองสูงสุด, อิติ — ดังนั้น, อุทาหฺฤตห์ — กล่าวไว้ว่า, ยห์ — ผู้ซึ่ง, โลก — ของจักรวาล, ตฺรยมฺ — สามส่วน, อาวิศฺย — เข้าไป, พิภรฺติ — ค้ำจุน, อวฺยยห์ — ไม่มีที่สิ้นสุด, อีศฺวรห์ — องค์ภควาน

คำแปล

นอกจากสองกลุ่มนี้แล้วยังมีบุคลิกภาพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ที่เป็นดวงวิญญาณสูงสุด องค์ภควานฺผู้ทรงไม่มีวันสูญสลาย ทรงเสด็จเข้าไป และทรงค้ำจุนทั้งสามโลก

คำอธิบาย

แนวคิดจักรวาลนี้ได้แสดงไว้อย่างสวยงามมากใน กฐ อุปนิษทฺ (2.2.13) และ เศฺวตาศฺวตร อุปนิษทฺ (6.13) กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตที่นับจำนวนไม่ถ้วนซึ่งบ้างอยู่ในพันธภาวะและบ้างก็หลุดพ้นยังมีบุคลิกภาพสูงสุดผู้ทรงเป็น ปรมาตฺมา โศลกใน อุปนิษทฺ กล่าวดังนี้ นิโตฺย นิตฺยานำ เจตนศฺ เจตนานามฺ คำอธิบายคือ ในมวลชีวิตทั้งในพันธสภาวะและทั้งหลุดพ้นยังมีอีกหนึ่งบุคลิกภาพสูงสุดองค์ภควานฺผู้ทรงค้ำจุนพวกเขา และทรงให้สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายเพื่อความรื่นเริงตามแต่กรรมที่ต่างกันไป บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงสถิตในหัวใจของทุกคนในรูป ปรมาตฺมา ผู้มีปัญญาที่สามารถเข้าใจพระองค์มีสิทธิ์ที่จะบรรลุถึงความสงบอย่างสมบูรณ์ มิใช่บุคคลอื่นใด

โศลก 18

yasmāt kṣaram atīto ’ham
akṣarād api cottamaḥ
ato ’smi loke vede ca
prathitaḥ puruṣottamaḥ
ยสฺมาตฺ กฺษรมฺ อตีโต ’หมฺ
อกฺษราทฺ อปิ โจตฺตมห์
อโต ’สฺมิ โลเก เวเท จ
ปฺรถิตห์ ปุรุโษตฺตมห์
ยสฺมาตฺ — เพราะว่า, กฺษรมฺ — ผู้ผิดพลาด, อตีตห์ — เป็นทิพย์, อหมฺ — ข้าเป็น, อกฺษราตฺ — เหนือผู้ไม่ผิดพลาด, อปิ — เช่นกัน, — และ, อุตฺตมห์ — ดีที่สุด, อตห์ — ดังนั้น, อสฺมิ — ข้าเป็น, โลเก — ในโลก, เวเท — ในวรรณกรรมพระเวท, — และ, ปฺรถิตห์ — มีชื่อเสียง, ปุรุษ-อุตฺตมห์ — ในฐานะบุคลิกภาพสูงสุด

คำแปล

เพราะว่าข้าเป็นทิพย์อยู่เหนือทั้งผู้ผิดพลาดและผู้ไม่ผิดพลาด และเนื่องจากข้ายิ่งใหญ่ที่สุด ข้าจึงมีชื่อเสียงทั้งในโลกและในคัมภีร์พระเวทในฐานะที่เป็นองค์ภควาน

คำอธิบาย

ไม่มีผู้ใดมีความสามารถเกินไปกว่าองค์กฺฤษฺณบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นพันธวิญญาณหรืออิสรวิญญาณ ดังนั้นพระองค์ทรงเป็นบุคลิกภาพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ตรงนี้ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าทั้งสิ่งมีชีวิตและองค์ภควานฺเป็นปัจเจกบุคคล ข้อแตกต่างคือ สิ่งมีชีวิตไม่ว่าอยู่ในระดับที่ถูกพันธนาการหรือในระดับที่มีอิสรภาพก็ไม่สามารถมีปริมาณเหนือกว่าพลังอำนาจที่ไม่สามารถมองเห็นได้ของบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า จึงเป็นการไม่ถูกต้องที่คิดว่าองค์ภควานฺและสิ่งมีชีวิตอยู่ในระดับเดียวกัน หรือเท่าเทียมกันในทุกๆด้าน มักจะมีคำถามเกี่ยวกับความสูงกว่าและต่ำกว่าระหว่างบุคลิกภาพเหล่านี้เสมอ คำว่า อุตฺตม มีความสำคัญมาก ไม่มีผู้ใดสามารถอยู่เหนือองค์ภควานฺ

คำว่า โลเก แสดงถึง “ใน เปารุษ อาคม (พระคัมภีร์ สฺมฺฤติ) ” ดังที่ยืนยันไว้ในพจนานุกรม นิรุกฺติ ว่า โลกฺยเต เวทารฺโถ ’เนน “จุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวท พระคัมภีร์ สฺมฺฤติ ได้อธิบายไว้”

องค์ภควานฺในรูปลักษณ์ ปรมาตฺมา ภายในหัวใจทุกคนได้มีการอธิบายไว้ในคัมภีร์พระเวทเช่นกัน โศลกเหล่านี้ปรากฏในคัมภีร์พระเวท (ฉานฺโทคฺย อุปนิษทฺ 8.12.3) ตาวทฺ เอษ สมฺปฺรสาโท ’สฺมาจฺ ฉรีราตฺ สมุตฺถาย ปรํ โชฺยติ-รูปํ สมฺปทฺย เสฺวน รูเปณาภินิษฺปทฺยเต อุตฺตมห์ ปุรุษห์ “องค์อภิวิญญาณที่ทรงออกมาจากร่างกายแล้วจึงเสด็จเข้าไปใน พฺรหฺม-โชฺยติรฺ ที่ไร้รูปลักษณ์ จากนั้นด้วยรูปลักษณ์ของพระองค์พระองค์ทรงไว้ซึ่งบุคลิกลักษณะทิพย์ ผู้ที่สูงสุดองค์นั้นเรียกว่า บุคลิกภาพสูงสุด” เช่นนี้หมายความว่าบุคลิกภาพสูงสุดทรงแสดงและทรงแพร่กระจายรัศมีทิพย์ของพระองค์ซึ่งเป็นแสงอันเจิดจรัสสูงสุด บุคลิกภาพสูงสุดพระองค์นั้นทรงมีรูปลักษณ์อยู่ภายในหัวใจของทุกๆคนด้วยเช่นกันในรูปของ ปรมาตฺมา จากการอวตารมาเป็นบุตรของ สตฺยวตี และ ปราศร องค์วฺยาสเทว ทรงอธิบายความรู้พระเวท

โศลก 19

yo mām evam asammūḍho
jānāti puruṣottamam
sa sarva-vid bhajati māṁ
sarva-bhāvena bhārata
โย มามฺ เอวมฺ อสมฺมูโฒ
ชานาติ ปุรุโษตฺตมมฺ
ส สรฺว-วิทฺ ภชติ มำ
สรฺว-ภาเวน ภารต
ยห์ — ผู้ใดซึ่ง, มามฺ — ข้า, เอวมฺ — ดังนั้น, อสมฺมูฒห์ — ปราศจากความสงสัย, ชานาติ — รู้, ปุรุษ-อุตฺตมมฺ — บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า, สห์ — เขา, สรฺว-วิตฺ — ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง, ภชติ — ถวายการอุทิศตนเสียสละรับใช้, มามฺ — แด่ข้า, สรฺว-ภาเวน — ในทุกๆด้าน, ภารต — โอ้ โอรสแห่งบาระทะ

คำแปล

ผู้ใดรู้จักข้าในฐานะองค์ภควานโดยไม่มีความสงสัย เป็นผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ฉะนั้นเขาปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้แด่ข้าอย่างสมบูรณ์ โอ้ โอรสแห่ง ภรต

คำอธิบาย

มีการคาดคะเนทางปรัชญามากมายเกี่ยวกับสถานภาพเดิมแท้ของสิ่งมีชีวิตและสัจธรรมสูงสุด โศลกนี้บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงอธิบายอย่างชัดเจนว่า ผู้ใดรู้ว่าองค์กฺฤษฺณทรงเป็นบุคลิกภาพสูงสุดเป็นผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยแท้จริง ผู้รู้ที่ไม่สมบูรณ์ได้แต่คาดคะเนเกี่ยวกับสัจธรรมเรื่อยไป ผู้รู้ที่สมบูรณ์จะไม่เสียเวลาอันมีค่าไปแต่จะปฏิบัติในกฺฤษฺณจิตสำนึกด้วยการอุทิศตนเสียสละรับใช้องค์ภควานฺโดยตรง ตลอดทั้งเล่มของ ภควัท-คีตา ความจริงนี้ได้เน้นทุกๆขั้นตอน แต่ยังมีนักตีความ ภควัท-คีตา ที่หัวรั้นมากมายพิจารณาว่าสัจธรรมสูงสุดและสิ่งมีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันและเหมือนกัน

ความรู้พระเวทเรียกว่า ศฺรุติ เรียนรู้ด้วยการสดับฟัง เราควรรับสาส์นพระเวทจากผู้ที่เชื่อถือได้อย่างแท้จริง เช่น จากองค์กฺฤษฺณ และผู้แทนของพระองค์ ที่นี้องค์กฺฤษฺณทรงแยกแยะทุกสิ่งทุกอย่างได้งดงามมาก และเราควรสดับฟังจากแหล่งนี้ เพียงแต่สดับฟังเหมือนกับสุกรนั้นไม่เพียงพอเราต้องเข้าใจจากผู้ที่เชื่อถือได้อีกด้วย ไม่ใช่เพียงคาดคะเนเชิงวิชาการแต่เราควรสดับฟัง ภควัท-คีตา ด้วยยอมจำนนว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นรององค์ภควานฺเสมอ ผู้ใดเข้าใจเช่นนี้ตามบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าศฺรี กฺฤษฺณนั้นเป็นผู้รู้จุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวท นอกเหนือจากนั้นไม่มีใครรู้จุดมุ่งหมายของคัมภีร์พระเวท

คำว่า ภชติ สำคัญมาก มีหลายแห่งได้เน้นคำ ภชติ ในความสัมพันธ์กับการรับใช้องค์ภควานฺ หากบุคคลปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกในการอุทิศตนเสียสละรับใช้องค์ภควานฺอย่างสมบูรณ์เข้าใจได้ว่าเขาได้เข้าใจความรู้พระเวททั้งหมด ใน ไวษฺณว ปรมฺปรา กล่าวไว้ว่าหากผู้ใดปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้แด่องค์กฺฤษฺณก็ไม่มีความจำเป็นกับวิถีทิพย์อื่นใดเพื่อให้เข้าใจสัจธรรมที่สมบูรณ์สูงสุด เพราะได้มาถึงจุดหมายปลายทางเรียบร้อยแล้ว จากการปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺทำให้เสร็จสิ้นวิธีการพื้นฐานเพื่อความเข้าใจทั้งหมด แต่หากผู้ใดหลังจากคาดคะเนเป็นเวลาร้อยๆพันๆชาติและมาไม่ถึงจุดที่ว่าองค์กฺฤษฺณคือบุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้า และตัวเขาต้องศิโรราบต่อพระองค์จากตรงนี้การคาดคะเนทั้งหมดเป็นเวลาหลายปีและหลายชาติจะเป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์

โศลก 20

iti guhya-tamaṁ śāstram
idam uktaṁ mayānagha
etad buddhvā buddhimān syāt
kṛta-kṛtyaś ca bhārata
อิติ คุหฺย-ตมํ ศาสฺตฺรมฺ
อิทมฺ อุกฺตํ มยานฆ
เอตทฺ พุทฺธฺวา พุทฺธิมานฺ สฺยาตฺ
กฺฤต-กฺฤตฺยศฺ จ ภารต
อิติ — ดังนั้น, คุหฺย-ตมมฺ — ลับสุด, ศาสฺตฺรมฺ — พระคัมภีร์ที่เปิดเผย, อิทมฺ — นี้, อุกฺตมฺ — เปิดเผย, มยา — โดยข้า, อนฆ — โอ้ ผู้ไร้บาป, เอตตฺ — นี้, พุทฺธฺวา — เข้าใจ, พุทฺธิ-มานฺ — ปัญญา, สฺยาตฺ — เขามาเป็น, กฺฤต-กฺฤตฺยห์ — ผู้สมบูรณ์ที่สุดในความพยายามของเขา, — และ, ภารต — โอ้ โอรสแห่งบาระทะ

คำแปล

โอ้ ผู้ไร้บาป บัดนี้ข้าจะเปิดเผยส่วนลับที่สุดของคัมภีร์พระเวท ผู้ใดเข้าใจจะเป็นผู้มีปัญญา และความพยายามของเขาจะบรรลุผลโดยสมบูรณ์

คำอธิบาย

องค์ภควานฺทรงอธิบายอย่างชัดเจน ที่นี้ว่านี่คือแก่นสารสาระของพระคัมภีร์ที่เปิดเผยทั้งหลาย เราควรเข้าใจตามที่บุคลิกภาพสูงสุดแห่งพระเจ้าทรงประทานให้แล้วเราจะมีปัญญา และมีความสมบูรณ์ในความรู้ทิพย์ อีกนัยหนึ่งจากการเข้าใจปรัชญาขององค์ภควานฺนี้และปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อพระองค์ทำให้ทุกคนเป็นอิสระจากมลทินทั้งหลายของสามระดับแห่งธรรมชาติวัตถุ การอุทิศตนเสียสละรับใช้เป็นวิธีการเพื่อความเข้าใจวิถีทิพย์ ที่ใดที่มีการอุทิศตนเสียสละรับใช้ที่นั้นก็จะไม่มีมลทินทางวัตถุคู่กัน การอุทิศตนเสียสละรับใช้ต่อองค์ภควานฺและองค์ภควานฺเองเป็นหนึ่งเดียวกัน และเหมือนกันเนื่องจากทั้งคู่เป็นทิพย์ การอุทิศตนเสียสละรับใช้เกิดขึ้นภายในพลังงานเบื้องสูงของพระองค์กล่าวไว้ว่าองค์ภควานฺทรงเป็นดวงอาทิตย์ และอวิชชาคือความมืด ที่ใดที่ดวงอาทิตย์ปรากฏจะไม่มีความมืด ดังนั้นเมื่อใดที่มีการอุทิศตนเสียสละรับใช้ภายใต้การนำทางที่ถูกต้องของพระอาจารย์ทิพย์ผู้ที่เชื่อถือได้ก็จะไม่มีอวิชชา

ทุกๆคนต้องปฏิบัติกฺฤษฺณจิตสำนึกและอุทิศตนเสียสละรับใช้เพื่อให้เกิดปัญญาซึ่งจะทำให้ตนเองบริสุทธิ์ นอกเสียจากว่าเราจะมาถึงสถานภาพแห่งการเข้าใจองค์กฺฤษฺณและปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้นี้ไม่อย่างนั้นถึงแม้ว่าเราจะชาญฉลาดเพียงใดในการประเมินของสามัญชนทั่วไปเราก็จะไม่เป็นผู้มีปัญญาโดยสมบูรณ์

คำว่า อนฆ ที่ทรงเรียก อรฺชุน มีความสำคัญ อนฆ “โอ้ ผู้ไร้บาป” หมายความว่านอกเสียจากว่าเราจะเป็นอิสระจากผลบาปทั้งปวงไม่อย่างนั้นก็จะเป็นการยากมากที่จะเข้าใจองค์กฺฤษฺณ เราต้องเป็นอิสระจากมลทินทั้งหลายและกิจกรรมบาปทั้งปวงจึงจะสามารถเข้าใจองค์กฺฤษฺณได้ แต่การอุทิศตนเสียสละรับใช้จะมีความบริสุทธิ์และมีพลังอำนาจมากจนกระทั่งเมื่อผู้ใดปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้เท่ากับผู้นั้นได้มาถึงระดับแห่งความเป็นผู้ไร้บาปโดยปริยายในทันที

ขณะที่ปฏิบัติการอุทิศตนเสียสละรับใช้อย่างใกล้ชิดกับเหล่าสาวกผู้บริสุทธิ์ในกฺฤษฺณจิตสำนึกอย่างสมบูรณ์ จะมีบางสิ่งบางอย่างจำเป็นที่จะต้องขจัดไปให้หมดสิ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องข้ามให้พ้นคือ ความอ่อนแอของหัวใจ การตกลงต่ำประการแรกเนื่องมาจากความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าเหนือธรรมชาติวัตถุ ที่ทำให้เรายกเลิกการรับใช้ด้วยความรักทิพย์ต่อองค์ภควานฺ ความอ่อนแอของหัวใจประการที่สองคือ เมื่อแนวโน้มที่อยากเป็นเจ้าเหนือธรรมชาติวัตถุเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นเราจะยึดติดกับวัตถุ และการเป็นเจ้าของวัตถุ ปัญหาแห่งความเป็นอยู่ทางวัตถุก็เนื่องมาจากความอ่อนแอของหัวใจเช่นนี้ ในบทนี้ห้าโศลกแรกอธิบายถึงวิธีการที่จะทำให้เราเป็นอิสระจากความอ่อนแอของหัวใจเช่นนี้ จากโศลกที่หกถึงโศลกสุดท้ายได้อธิบายเรื่อง ปุรุโษตฺตม-โยค

ดังนั้นได้จบคำอธิบายโดย ภักดีเวดานตะ บทที่สิบห้าของหนังสือ ศฺรีมทฺ ภควัท-คีตา ในหัวข้อเรื่อง ปุรุโษตฺตม-โยค หรือ โยคะแห่งองค์ภควาน